เริ่มแล้ว! “นายกฯ” เสนอ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ต่อสภาฯ แจงกรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 เยียวยา-รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยันสามารถชำระหนี้ได้ ไม่ขัดต่อกรอบวินัยการเงินการคลัง-เพดานก่อหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัยประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ซึ่งในการประชุมวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีวาระสำคัญเรื่องด่วนการพิจารณาพ.ร.ก. 3 ฉบับ ได้แก่ 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 2. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และ 3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งครม. เป็นผู้เสนอ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงหลักการ และเหตุผลในการตราพ.ร.ก. 3 ฉบับ ว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คืนกลับมาสู่ประเทศ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขสถานการณ์ และหยุดยั้งการระบาดของโรคระบาดโควิด-19 เพื่อสร้างความพร้อมด้านสาธารณสุขของประเทศ เพื่อเยียวยาเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพจากมาตรการควบคุม และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค โดยรัฐบาลจะต้องใช้เงินในการดำเนินการดังกล่าวจำนวน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่อาจดำเนินการได้ตามปกติหรือใช้การกู้เงินของรัฐบาลที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันได้ จึงต้องมีการออกพ.ร.ก. เพื่อดูแล และฟื้นฟูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ การตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่รัฐบาลตัดสินใจดำเนินการ เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความห่วงใยในประเด็นการรักษาวินัยการเงิน การคลังของประเทศ และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน จึงได้กำหนดหลักการที่สอดคล้องกับวินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเป็นกรอบการกู้เงินไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยลงนามในสัญญากู้ไม่เกิน วันที่ 30 ก.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาวินัยในการใช้เงิน รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางการใช้เงินตามพ.ร.ก. ได้แก่ 1. กำหนดวงเงิน 450,000 ล้านบาท ที่ต้องนำเงินไปใช้ในแผนงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส-19 2. กำหนดวงเงิน 555,000 ล้านบาท ที่ต้องนำไปใช้ตามแผนเพื่อชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และ 3. กำหนดวงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ตามแผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อชดเชยเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งครม.มีอํานาจอนุมัติปรับเปลี่ยนกรอบวงเงินได้ตามความจำเป็น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน เพื่อให้การใช้จ่ายสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนงานหรือโครงการก่อนเสนอ ครม. และจำกัดการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งรายงานต่อ ครม. รวมถึงต้องมีการจัดทำรายงานผลการใช้เงินให้รัฐสภาทราบภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งเป็นรายงานที่ครอบคลุมรายละเอียดขอลการกู้เงิน วัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงินกู้และผลที่ได้รับจากการใช้จ่ายเงิน นอกจากนี้ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดเงิน และตลาดทุนทั่วโลกจึงต้องมีแผนงานเพื่อให้ประชาชนดำรงอยู่ได้ไปพร้อมกับการรักษาสภาพเศรษฐกิจซึ่งเป็นเครื่องจักรของประเทศ จึงได้มีมาตรการพักชำระหนี้ การกำหนดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทั้งกับประชาชน และผู้ประกอบการ ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ลดค่าการใช้น้ำ ลดค่าใช้ไฟฟ้า ขยายเวลาการชำระค่าน้ำและค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ชะลอการจ่ายภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล และมาตรการชดเชยรายได้ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน “ขอยืนยันว่าการกู้คืนภายใต้พ.ร.ก. ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะ และกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเมื่อรวมการก่อหนี้ในครั้งนี้แล้วมีอัตราการก่อหนี้สาธารณะต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ หรือ จีดีพี อยู่ที่ 57.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าไม่เกินกรอบการก่อหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีที่กำหนดไว้ว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกินกรอบ 60 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการในการชำระหนี้ได้ และยืนยันว่าการตราพ.ร.ก.ครั้งนี้ เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จึงต้องมีการตราพ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาตามหลักการ และเหตุผลดังที่กล่าวมา พร้อมทั้งขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน ที่มีความห่วงใยต่อการใช้เงินจำนวนดังกล่าวด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว