รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า... สระว่ายน้ำกับโรค COVID-19 . โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย . ฟังแถลงแล้วเป็นห่วง . สระว่ายน้ำนั้นเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ ไม่ว่าจะแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรืออื่นๆ . เหตุผลในการเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เพราะ . หนึ่ง เป็นที่ที่มีคนมาใช้ร่วมกัน การติดเชื้อจึงเป็นได้ทั้งจากการใกล้ชิด สัมผัสตัวกัน สัมผัสละอองฝอยน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่งขณะพูดคุยเล่น หรือแม้แต่การเผลอกินน้ำในสระที่ปนเปื้อนน้ำลาย เสมหะ อาเจียน ปัสสาวะ อุจจาระที่เล็ดออกมา . สอง เป็นที่ที่คุณภาพและความปลอดภัยของคนมาใช้บริการต้องอาศัยการบำรุงดูแลรักษาตามมาตรฐานทางสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด หากละเลยเพิกเฉยหรือหย่อนยาน คนที่มาใช้บริการก็จะตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายโดยไม่รู้ตัว และยากต่อการตรวจสอบจนกว่าจะเกิดเรื่องใหญ่โตขึ้นมา . สาม "คลอรีน"ไม่ใช่ยาวิเศษที่ฆ่าเชื้อได้ทุกอย่าง มีเหตุการณ์ในอดีตหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลให้คนป่วยจากการไปว่ายน้ำ โดยเคยมีงานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าแม้คลอรีนอยู่ในระดับมาตรฐานก็อาจยังมีปนเปื้อนได้ ดังนั้นก็ต้องไปใช้บริการอย่างระมัดระวัง มีสติอยู่เสมอ . ไวรัสที่เคยระบาดในสระว่ายน้ำมีหลายต่อหลายชนิด เช่น Adenovirus, Norovirus, Enterovirus, Hepatitis A เป็นต้น . อย่าง Adenovirus ที่ก่อให้เกิดโรคหวัดได้นั้น เคยมีคนวิจัยการระบาดในสระว่ายน้ำ และนำน้ำจากสระไปตรวจพบเชื้อ โดยพิสูจน์ว่าเป็นตัวที่เหมือนกับตัวที่ทำให้คนป่วยมากมาย เช่น จอร์เจีย กรีซ จีน เป็นต้น . สำหรับ COVID-19 นั้นก็เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง จึงต้องไม่ประมาท . ผู้ประกอบกิจการสระว่ายน้ำควรเคร่งครัดในมาตรฐานสุขอนามัย ดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชิ้นอย่างสม่ำเสมอ วัดปริมาณคลอรีนให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานและวัดบ่อยๆ จำกัดปริมาณคนใช้บริการ ตรวจวัดไข้ทุกคน ใครมีอาการไม่สบายไม่ว่าจะน้อยเพียงใดก็ต้องห้ามเข้าใช้บริการ และสำคัญไม่แพ้กันคือ ช่วงไหนใครไม่ลงน้ำก็ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างๆ กัน . ส่วนประชาชนที่วางแผนจะใช้บริการสระว่ายน้ำก็ควรประเมินสุขภาพตนเอง ถ้าช่วงที่ยังมีโรคระบาดโดยยังไม่มียามาตรฐานรักษาและไม่มีวัคซีนป้องกัน เลี่ยงไปออกกำลังกายแบบอื่นจะปลอดภัยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าพูดตรงๆ หากไม่มีสระว่ายน้ำในบ้านเป็นส่วนตัวแล้ว น่าจะปล่อยให้เหล่านักกีฬาว่ายน้ำไปใช้บริการไปก่อนน่าจะดีกว่าครับ แต่สำหรับคนที่อยากเรียนว่ายน้ำ ควรนัดเรียนกับครูเค้าเป็นส่วนตัวก็น่าจะดีกว่าเป็นกลุ่มโดยควรแน่ใจว่าทั้งคุณครูและลูกศิษย์ได้ตรวจเช็คสุขภาพแล้วและสระที่นัดไปเรียนนั้นได้มาตรฐานและไม่แออัดจริงๆ . ด้วยรักต่อทุกคน... . อ้างอิง Bonadonna L et al. A Review and Update on Waterborne Viral Diseases associated with Swimming Pools. Int J Environ Res Public Health. 2019 Jan; 16(2): 166.