เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ตรัง ชลบุรี ภูเก็ต ราชบุรี จำนวนทั้งสิ้น 1,112 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 18 – 21 พฤษภาคม 2563 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เผยว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หรือ ศบค. ได้มีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ซึ่งมีการลดเวลาเคอร์ฟิวจาก 22.00 น.ถึง 04.00 น. มาเป็น 23.00 น. ถึง 04.00 น. ทำให้เกิดความกังวลถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังการผ่อนปรน ในส่วนของผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจ และความต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างไร และความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ความรู้สึกตื่นตกใจทุกครั้งที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 65.8 และเกิดความกลัวการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 70.9 หน่วยงานศบค.สามารถควบคุมสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 65.4 และมีความพึงพอใจในการทำงานของศบค.อยู่ในระดับพึงพอใจปานกลางร้อยละ 50.2 รองลงมาคือพึงพอใจมาก ร้อยละ 44.1 อันดับสุดท้ายคือพึงพอใจน้อย ร้อยละ 5.7 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่ามาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่แน่ใจว่าจะเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 38.5 รองลงมาคือ ไม่เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 34.4 อันดับสุดท้ายคือเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 27.1 และคิดว่าหลังจากการมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง ร้อยละ 53โดยมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ร้อยละ 57.6 และมีความพึงพอใจในการทำงานของ รัฐบาลในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับพึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 47.1 รองลงมาคือพึงพอใจมาก ร้อยละ 29.3 อันดับสุดท้ายคือพึงพอใจน้อย ร้อยละ 23.6 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยับเวลาห้ามออกจากเคหะสถาน(เคอร์ฟิว) เป็นเวลา 23.00-04.00 น. โดยให้มีผลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ร้อยละ 65.8 และคิดว่า การห้ามออกจากเคหะสถาน(เคอร์ฟิว) มีความจำเป็นในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 64 และอยากให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ มากที่สุด อันดับหนึ่งคือการจ่ายเงินเดือนให้ประชาชนทุกคน ร้อยละ 27.4 อันดับสองคือการควบคุมราคาสินค้าสำหรับการดำรงชีวิต ร้อยละ 17.4 อันดับสามคือการส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ ร้อยละ 12.3 อันดับสี่คือการลดราคาน้ำประปาและไฟฟ้า ร้อยละ 9.9 อันดับห้าคือการเพิ่มการจ้างงานของภาครัฐ ร้อยละ 9.6 อันดับหกคือการพักชำระหนี้ให้กับประชาชน ร้อยละ 8.9 อันดับเจ็ดคือการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7.7 อันดับสุดท้ายคือการปรับลดภาษีส่วนบุคคล ร้อยละ 6.8