ในโอกาสครบรอบปีที่ 57 ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2506 ได้สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการรักษาทรัพยากรดินด้วยการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปรับปรุง ฟื้นฟูดิน ให้ดินและที่ดินสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า โดยกรมฯ มีภารกิจสำคัญในการกำหนดนโยบายและวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรม การสำรวจและจำแนกดิน การวางแผนการการใช้ที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การผลิตแผนที่และทำสำมะโนที่ดิน การให้บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญสูงสุดคือการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีความมั่นคง และมีแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้ 1.กำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อจัดเขตการปลูกพืชให้เหมาะสมกับศักยภาพของดินและที่ดิน 2.การบริหารจัดการเชิงพื้นที่เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง โดยการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ และการรักษาความชื้นในดิน การป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และกักเก็บน้ำในดินด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินและเสริมสร้างอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่ โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตและวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน 4.สนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพด้านการพัฒนาที่ดิน ฟื้นฟูและปรับปรุงคุณภาพดินในพื้นที่เฉพาะ นอกจากนี้ได้สนับสนุนความรู้ทางวิชาการโดยการสาธิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน เน้นการทำเกษตรสมัยใหม่ พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ทำน้อยแต่ได้มาก สนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ การเกษตรผสมผสาน ทำให้สามารถผลิตอาหารที่มีความหลากหลาย มีคุณค่าทางโภชนาการ สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างเพียงพอและมีความปลอดภัยต่อชีวิต การสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม Big Data & AI กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ซึ่งสามารถนำไปใช้วางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช และดำเนินกิจกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคอุบัติใหม่จากเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID–19) ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหาร ไม่เพียงแต่ลดทอนความสามารถในการผลิตอาหาร ยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงอาหารของประชากรโลก ดังนั้นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรดิน การพัฒนาที่ดินจึงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสภาพดินที่เสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และเป็นกลไกที่จะทำให้การพัฒนาการเกษตรเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยนำความต้องการของเกษตรกรมาเป็นพื้นฐานการพัฒนาที่ดิน ที่ต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ประชาชน เกษตรกร และภาคส่วนอื่นๆ โดยเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อสร้างวิถีการทำงานแบบ New Normal และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ระบบราชการ 4.0 ซึ่งผู้บริหารกรมฯ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร มีการเปิดเผยเชื่อมโยงข้อมูลให้กับหน่วยงานภายในและภายนอกอย่างเป็นระบบ สร้างการรับรู้ให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับในการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่เป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานตั้งแต่การบริหารงานวิชาการ และการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ ทำให้เกิดผลงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ (Best Practice) นำไปสู่เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาด้านการเกษตรที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่รองรับความต้องการของตลาดผู้บริโภค ด้วยทรัพยากรของท้องถิ่นที่มีอยู่ภายใต้หลักการได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นคำตอบที่สำคัญและถูกดึงขึ้นมาทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมกันในการทำการผลิตเพื่อลดต้นทุน ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพอย่างแท้จริงและยั่งยืนเพียงพอ หากทำสำเร็จจะได้กุญแจดอกใหญ่ คือ องค์ความรู้ เพื่อเกษตรกรได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนตนเองในที่สุด" ด้านนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่อเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงานวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดินครบรอบ 57 ปี ในปีนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้เปลี่ยนรูปแบบการจัดงานขึ้นใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยใช้แนวทาง Social Distancing เพื่อลดปัญหาการแออัดของคนที่จะเข้ามาร่วมงาน โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การมอบรางวัลผลงานดีเด่น การมอบทุนการศึกษามูลนิธิพัฒนาที่ดินสงเคราะห์ และมอบทุนการศึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมพัฒนาที่ดิน จำกัด ผ่าน VDO Conference นอกจากนี้ยังเปิดช่องทางให้ประชาชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมอวยพรแสดงความยินดีออนไลน์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดินครบรอบ 57 ปี ผ่านทางทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน (http://webapp.ldd.go.th/Congratulations/Index.aspx) อีกทางหนึ่งด้วย