รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะหารือทุกฝ่าย ระดมภาครัฐและเอกชนเพิ่มขีดความสามารถให้เข้าไปลงทุนภายในสถานที่ของท่าเรือ โดยเปิดกว้างไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจด้านโลจิสติกส์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน และท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยมี นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ และผู้บริหารภาคเอกชนร่วมให้การต้อนรับ โดยการหารือร่วมกัน หลังพบว่าในปัจจุบันท่าเรือหลายแห่งในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 4 ชาติ คือไทย สปป.ลาว เมียนมา และจีน มีการปิดดำเนินการโดยเฉพาะ สปป.ลาว ปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด - 19 แต่ท่าเรือของประเทศไทยได้เปิดให้มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 ได้ ทำให้มีการส่งออกสินค้าไปยังท่าเรือบางแห่งที่เปิดรับสินค้าไทย เช่น ท่าเรือสบหรวย ประเทศเมียนมา เป็นต้น ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ กล่าวว่า จากการดูผลประกอบการของท่าเรือแม่น้ำโขงที่ จ.เชียงราย พบว่ามีภาวะขาดทุนปีละ 4,000,000-5,000,000 บาท ทั้ง ๆ ที่มีศักยภาพสูง จึงเห็นว่าหากมีการบูรณาการกันทุกฝ่ายจะสามารถพัฒนาให้ดีกว่านี้ได้ โดยเฉพาะมีพื้นที่โล่งของท่าเรืออยู่มากเบื้องต้นทราบว่าประมาณ 30 ไร่ แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาคือระดมภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้สามารถเข้าไปลงทุนภายในสถานที่ของท่าเรือ โดยมีการเปิดกว้าง ด้วยการไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจด้านโลจิสติกส์ หรือการค้าชายแดนเท่านั้น ซึ่งการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพราะอาจสามารถประสานกลุ่มทุนในเครือข่าย โดยเฉพาะจากประเทศจีนเข้าไปลงทุน โดยมีการคิดค้นจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใน และเมื่อเห็นผลเป็นรูปธรรมทางการท่าเรือแห่งประเทศไทยก็จะสามารถได้รับการสนับสนุนงบประมาณมาพัฒนาเพิ่มเติมได้ ซึ่งหลังจากนี้ ทางภาคเอกชนของ จังหวัดเชียงราย ได้ร้องขอให้มีการติดตั้งเครนยกสินค้าที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ด้วย เพราะที่ผ่านมาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณไม่ได้เต็มที่เพราะผลประกอบการโดยเฉพาะปริมาณตู้สินค้า และกิจกรรมทางการค้าที่ท่าเรือยังไม่มากเพียงพอ แต่หากมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวมากขึ้น การสนับสนุนก็จะสามารถทำได้โดยทางกระทรวงคมนาคมก็จะรับประสานกับกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะจัดให้มีการเช่าเครนมาให้บริการภาคเอกชนไปก่อน และช่วงนั้น ก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการพัฒนาในภาพรวมทั้งหมดจากนั้น ในอนาคตก็จะมีการจัดซื้อเครนใหม่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 แห่งนี้ต่อไป ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จังหวัดเชียงราย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการจัดหาสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะจีนตอนใต้ ทำกันแทบไม่ทัน เพราะตลาดมีความต้องการสินค้าประเภทผลไม้ ผัก อาหารแช่แข็ง ฯลฯ ในปริมาณมาก แต่ใช้การส่งออกด้านอื่นแทน ดังนั้นหากมีการส่งเสริมให้ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนจึงถือเป็นศูนย์กลางการค้าลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งหากพัฒนาระบบเครนก็จะดึงดูดให้มีการส่งออกด้านนี้ได้มาก และทำให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้นตามมาเอง ในโอกาสนี้ ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกับ น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า และนางเกศสุดา สังขกร รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และประธานกลุ่มผู้ประกอบการค้าชายแดนอำเภอเชียงแสน ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีช่วยกว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้มีการพัฒนาท่าเรือด้วยระบบเครนดังกล่าว และประสานให้เกิดการทำพิธีสารระหว่างไทย-จีน ในสินค้าประเภทผัก ผลไม้ อาหารทะเลแช่แข็ง สินค้าเกษตร และเม็ดพลาสติก เพื่อให้การส่งออกไปยังจีนตอนใต้ โดยเฉพาะท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนที่ห่างจาก จ.เชียงราย เพียงประมาณ 265 กิโลเมตร สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อทางการจีนเปิดท่าเรือหลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในอนาคตต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับเรื่องเอาไว้และรับจะขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปดูข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ในการเปิดกว้างให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าไปลงทุนในที่ดินของการท่าเรือดังกล่าวเพื่อพัฒนาสินทรัพย์ให้มีมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้นต่อไปด้วย