"ศบค." ยก 3 ความจำเป็น ยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน ชง ครม.สัปดาห์หน้า แจง หากผ่อนคลายแต่หย่อนมาตรการ ไม่สมดุลกัน พร้อมเปิดไทม์ไลน์ ระยะ 3 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้รายงานถึงผลการตรวจกิจการ/กิจกรรม ตามมาตรการหลัก 5 ข้อ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 3-21 พ.ค. โดยตรวจทั้งสิ้น 353,495 กิจการ/กิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการครบ 304,946 กิจการ/กิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการไม่ครบ 43,415 กิจการ/กิจกรรม ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 5,134 กิจการ/กิจกรรม หรือคิดเป็นเพียง 1.5% ขณะที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เสนอวาระพิจารณาการขยายการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.ยังคงมีความจำเป็นต้องต้องบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะต้องการเอกภาพ ความรวดเร็ว ความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่เพียงพอ ต้องประกอบกับกฎหมายอีกกว่า 40 ฉบับ ซึ่งต้องมาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงจะปฏิบัติการป้องกันโรคได้ นายกฯ เน้นย้ำว่า การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขเป็นจุดหมายหลัก นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 2.เป็นการรองรับในระยะต่อไป เพราะประเทศไทยอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการผ่อนปรน ที่จะมีระยะที่ 3 และ 4 จะมีความเสี่ยงสูงกว่าการผ่อนปรนในระยะที่ 1 และ 2 ดังนั้น เมื่อมีความเสี่ยงสูง แต่ตัวกำกับกลับหย่อนลงก็จะลำบาก จะให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่พฤติกรรมเสี่ยงสูงกลับมา จึงไม่สมดุลกัน เราจึงต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องให้มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อกำหนดการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับการผ่อนปรนในระยะต่อไป และ3.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังไม่สิ้นสุด หลายประเทศยังมีการแพร่ระบาด มีการติดเชื้อสูงอยู่ แม้ไทยจะดำเนินผ่อนปรนครบทั้ง 4 ระยะแล้วก็ยังต้องความพร้อมในการเปิดประเทศ มาตรการทางกฎหมาย แผนบริการจัดการวิกฤติเพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะกลับมาของโรค ถ้าไม่มีกฎหมายควบคุมตัวเลขที่สูงในต่างประเทศจะไหลมาที่ไทยได้ ที่ประชุม ศบค.จึงเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 มีการกำหนดขั้นตอนไว้ ดังนี้ วันที่ 23-24 พ.ค.การจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการ/กิจกรรม ตามมาตรการผ่อนคลาย จากนั้นวันที่ 25-26 พ.ค.จะมีการประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการ/กิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลาย ส่วนวันที่ 27 พ.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ต่อมาวันที่ 29 พ.ค.จะมีการประชุม ศบค.เพื่อขออนุมัติ และวันที่ 1 มิ.ย.จะมีผลบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ส่วนกิจการ/กิจกรรมที่จะได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 3 มีอะไรบ้างนั้น ยังไม่มีการกล่าวถึง แต่เป็นกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางไปถึงสูงในการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่มารวมกันมากในการผ่อนคลายครั้งนี้ เพราะถ้าหลุดออกจากตรงนี้ต้องไปอยู่ระยะที่ 4