หมายเหตุ : “ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” รองหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” โดยได้วิเคราะห์หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น รวมถึงการทำงานของรัฐบาลในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว - มองภาพรวมการรับมือกับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลอย่างไรบ้าง รัฐบาลทำงานได้ค่อนข้างดี ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะ 2 ส่วนที่ทำงานได้ดีมาก และควรจะต้องพูดถึง ส่วนแรกคือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นการวางระบบที่ดีของสาธารณสุขไทยมาโดยตลอด และการวางระบบที่ดีนี้ทำให้เมื่อเกิดการเฝ้าระวังและติดตามเกี่ยวกับโรค อสม.ก็ทำหน้าที่นี้ได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้รู้ และสอบสวนการแพร่ระบาดของคนที่มีเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ส่วนที่ 2 แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ทำงานในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับเงื่อนไข และทรัพยากรที่มีอยู่ ทรัพยากรที่มีอยู่ของเราไม่ถึงกับมีน้อยแต่ก็ไม่ได้เรียกว่ามีมาก เรียกว่ามีอย่างจำกัด และหมอเราได้ใช้อย่างถูกจังหวะเวลา หมายความว่าไม่ใช่ช่วงต้นของสถานการณ์เราทุ่มใช้ทรัพยากรจนหมด และพอโรคยังไม่ซาลงก็กลายเป็นว่าทรัพยากรหมดแล้ว ถ้าแบบนี้ก็ถือว่าเป็นการบริหารทรัพยากรเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้ไม่ดี แต่ของไทยเราทำได้ดีมาก มีการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมกับสถานะของโรคที่กําลังระบาดอยู่ เราต้องชื่นชม นอกจากนี้ อุปนิสัยของคนไทยโดยรวมเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในหมอ ดังนั้นเวลาหมอให้ปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ ประชาชนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม การกักตัวอยู่บ้าน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเห็นว่าในหลายประเทศประชาชนเขาไม่ค่อยให้ความร่วมมือ แต่คนไทยพอหมอพูด 80-90 เปอร์เซ็นต์เราเชื่อ ซึ่งคิดว่าลักษณะนิสัยของคนไทยแบบนี้เป็นประโยชน์ในการร่วมมือแก้ไขปัญหานี้ นี่คือมิติทางวัฒนธรรมของคนไทยที่เป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตามโดยรวมมองว่าสาธารณสุขของประเทศไทยออกแบบมาไว้อย่างดีและบุคลากรที่อยู่ในระบบนั้นปฏิบัติตามหลักวิชาชีพอย่างมีวินัย นี่เป็นข้อดีที่ทำให้การระบาดครั้งนี้ของประเทศไทย หรือในอาเซียน กระทั่งในโลก คิดว่าเราทำได้อยู่ในแนวหน้า - ข้อมูลล่าสุดจากศบค.ที่ทำการสำรวจพฤติกรรมของประชาชน พบว่าการ์ดเริ่มตก แม้ในภาพรวม ไทยจะรับมือได้ดี มีตัวเลขคนติดเชื้อรายใหม่เป็นเลขตัวเดียว คิดว่าจุดนี้น่าห่วงหรือไม่ เรื่องนี้คือส่วนที่น่าเป็นห่วง อย่างที่บอกไปว่าอุปนิสัยคนไทยด้านดีคือเชื่อฟังหมอ แต่คิดว่าอุปนิสัยของคนไทยอีกด้านหนึ่งมีลักษณะเป็นคนที่ง่าย ๆ สบาย และรักสนุก ทำให้เมื่อเขาอยู่ในสภาวะที่เคยชินแล้วคิดว่าชีวิตแบบนี้ ที่เคยต้องอยู่บ้านและเมื่อมีการผ่อนคลายให้สามารถออกนอกบ้านได้เขาก็ออกไปแบบสบาย นี่คือวัฒนธรรมอีกด้านทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดการแพร่ระบาดครั้งที่ 2 แต่ยังเชื่อว่าการแพร่ระบาดครั้งที่ 2 ของประเทศไทยไม่น่าจะรุนแรงเหมือนกับบางประเทศ “ถ้าพูดจริง ๆ โดยพื้นฐานเป็นคนที่กลัวตายมากกว่าชาติอื่น มิติทางวัฒนธรรมของคนไทยมีส่วน เราพูดได้ว่าคนไทยให้ความร่วมมือดี แต่คำถามคือทำไมถึงให้ความร่วมมือดี ก็เพราะกลัวตาย แต่ถ้ารู้ว่าไม่ตายเมื่อไหร่ เขาก็ออกไปข้างนอก ไปดื่มสังสรรค์ได้ นี่คือลักษณะทางวัฒนธรรมที่เราจะต้องเข้าใจคนไทยของเรา และบริหารให้ถูกต้อง” - วันนี้รัฐบาลเดินมาสู่ขั้นตอนของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลยังหา "คนจนตัวจริง" ไม่เจอ ไม่ครอบคลุม จุดนี้มองอย่างไรบ้าง เรื่องนี้เชื่อว่าเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล อยากใช้คำว่ารัฐบาลยังไม่รู้จักคนจน ยังเข้าไม่ถึงคนจน ความหมายที่บอกว่ารัฐบาลยังไม่รู้จัก และเข้าไม่ถึง คือเราไม่รู้ว่าชีวิตในแต่ละวันของเขาทำอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง เช่น ในแต่ละวันเขาต้องทำการเกษตร ต้องไปรับจ้าง ชีวิตของเขาต้องทำงานทุกวัน ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีกิน อาจจะมีผัก มีข้าว แต่ก็ไม่มีเงินไปซื้อหมู ซื้อไก่ได้ ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้การที่เราจะเข้าไปหาคนกลุ่มนี้ได้ จะต้องรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร และมีความเดือดร้อนรูปแบบไหน อย่างคนในพื้นที่ชนบท บางครั้งเขาอาจไม่ได้ต้องการหน้ากากอนามัยเป็นอย่างแรก แต่สิ่งที่เขาขาดคืออาหาร การที่เรานำเงินไปแจก แม้จะมีเงินแต่เขาก็ไม่สามารถไปซื้ออาหารได้ เพราะหากอยู่ในหมู่บ้าน การจะออกไปซื้ออาหารก็ต้องนั่งรถไปตลาด ต้องเสียค่ารถ แล้วถึงแม้ไปซื้อได้ บางอย่างก็หาซื้อไม่ได้ เพราะมีมาตรการปิดเมือง สิ่งที่อยากได้มากกว่าคืออยากได้อาหารที่ส่งตรงถึงบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้งหรืออาหารพร้อมทานก็แล้วแต่ ในชั่วโมงวิกฤตขณะนั้นอาหารจำเป็นมากกว่าเงินแต่ พอมาถึงวันนี้เราก็จะแจกเงิน ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะจะให้แจกอาหารเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน มันก็ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นภาระของการปฏิบัติงาน ดังนั้นการแจกเงินเพื่อให้เขาไปซื้อตามระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่ก็ถือว่าดี แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่าการที่รัฐบาลแจกเงินคนจนมาตลอดหลายรอบ รวมถึงครั้งนี้ด้วยนั้น ทำให้เราตั้งคำถามขึ้นมาอีกว่าคนที่รัฐบาลแจกไปแล้ว แจกทุกคนหรือไม่ และแจกผิดคนมากหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ออกมาจากเหตุการณ์ครั้งนี้บอกว่า ครั้งที่แล้วเราก็แจกผิดคนไปเยอะ แต่ผิดเท่าไหร่ก็ตอบไม่ได้ แต่ปฏิกิริยาของคนที่แสดงออกมา มันปรากฏ และถ้าจะให้วิจารณ์ตรง ๆ มาตรการการแจกเงินของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการในเชิงนโยบาย แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่ผ่านมาคือการปฏิบัติการ หรือวิธีการแจกของรัฐบาล ทำการบ้านน้อยเกินไป ทำให้เรามีปัญหา เช่น รัฐบาลคิดว่าการจ่ายเงินของเกษตรกร หรือผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเก็บไว้ก่อน แล้วแจกคนที่ยังไม่มีอะไรเลย นี่คือการคิดแบบมีความหวังดี โดยวิธีการให้เขามาแจ้ง บอกบัตรประชาชน และบอกอาชีพ แต่ปรากฏว่าการใส่อาชีพมานั้น ทำให้ระบบฐานข้อมูลเดิมตรวจสอบไม่ได้ ทำให้มีเสียงออกมาว่าหลายคนเป็นช่างทำผม เป็นแม่ค้าก็บอกว่าเป็นเกษตรกร สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าระบบฐานข้อมูลของประเทศไทยยังมีปัญหา หวังว่าบทเรียนครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลกลับมาทบทวนเรื่องระบบฐานข้อมูลประชากรใหม่ มันไม่ใช่แค่เพียงว่าคนนี้มีตัวตน และจบ แต่เราต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ และสถานะของการทำงาน และการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากของการกำหนดนโยบาย อย่างไรก็ตาม ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้ ขอเพียงครั้งหน้าอย่าเกิดปัญหาซ้ำอีก ทั้งนี้ต้องให้กำลังใจแก่รัฐบาล ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกนี้ที่แก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดยไม่มีข้อผิดพลาดเลย ดังนั้นการที่รัฐบาลไทยจะมีข้อผิดพลาดก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ รวมถึงการที่มีข้อผิดพลาดในการจัดการดูแลคนจนของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ขอเงื่อนไขข้อเดียวคือหากจะต้องช่วยคนจนในครั้งต่อไป ขอให้ไม่ผิดได้หรือไม่ ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะไม่เกิดการเรียนรู้ ไม่มีการปรับปรุง และประเทศเราก็ย่ำอยู่กับที่แบบนี้ ในความหมายเชิงนโยบาย สิ่งที่รัฐบาลไทย และข้าราชการไทยไม่ได้ทำเลย คือเราไม่ได้ทำการประเมินผลนโยบาย เพราะการประเมินผลนโยบาย จะต้องเริ่มตั้งแต่การปฏิบัติ กลไกการปฏิบัติ เกิดอะไรบ้าง เป้าหมายที่เราต้องการให้เกิดขึ้นกับประชาชนมันเกิดหรือไม่ เพราะอะไรทำไมจึงเกิด ทำไมจึงไม่เกิดกับบางกลุ่ม และเมื่อผิด เหตุผลคืออะไร กลไกตรงไหนมีปัญหา จากนั้นพิสูจน์ออกมาด้วยข้อเท็จจริง ข้อมูลจริง และบันทึกไว้ เพราะครั้งหน้าหากจะแจกเงินก็จะไม่มีการผิดอีก นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าข้าราชการ ระบบราชการของไทยควรจะต้องกลับมาทบทวนเรื่องเหล่านี้กันใหม่ - การเรียนออนไลน์ที่เพิ่งทดลองกันไปเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าเกิดปัญหามากมาย จุดนี้กำลังสะท้อนอะไรได้บ้าง การเรียนออนไลน์สะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่รู้จักนักเรียน ไม่รู้จักโรงเรียน และไม่รู้จักครู ความสำเร็จของการเรียนเกี่ยวข้องกับคนสองคน คือครูและนักเรียน และเงื่อนไขที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือโรงเรียน เพราะฉะนั้นโรงเรียน ครู และนักเรียน 3 ส่วนนี้ต้องจัดการให้ถูกต้อง การเรียนจึงจะประสบความสำเร็จ ในส่วนของการเรียนออนไลน์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่รู้จักนักเรียน ยกตัวอย่าง นักเรียนเรียนออนไลน์เหตุผลคือป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อของโควิด-19 ซึ่งทุกคนเข้าใจหมด เมื่อเป็นอย่างนี้จึงมีการประกาศให้เรียนออนไลน์ หมายความว่าเบื้องต้นจะต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตโทรทัศน์ ไฟฟ้า เป็นต้น แต่ก็มีนักเรียนบางส่วนที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งมีโทรทัศน์ก็มีเครื่องเดียวแต่มีลูกเรียนอยู่ 3 ชั้นเรียน หลายคนอาจจะบอกว่าให้จัดเวลา เพราะมีการถ่ายทอด 3 รอบ เราพูดได้แต่มันเป็นเงื่อนไขของคนที่มีความพร้อมทุกอย่าง แต่บางครอบครัว ผู้ปกครองก็ต้องไปทำงานหาเงิน ออกไปรับจ้าง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีเงิน ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้สิ่งที่เราได้ยินปัญหาทั้งหมดมันเกิดขึ้นจากเด็กนักเรียนที่อยู่ชายขอบทั้งสิ้น เด็กนักเรียนที่ยากจน ลูกของคนจนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีปัญหา แต่ลูกของชนชั้นกลางที่อยู่บ้านหรือคอนโดเขาไม่มีปัญหา สามารถปรับตัวได้ แต่เสียงที่เป็นปัญหาเกิดจากนักเรียนชายขอบทั้งสิ้น ก็เหมือนกับมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท คนที่อยู่ในเมืองชนชั้นกลางที่ทำงานและตกงานเขาได้เงิน ที่ไม่ได้คือคนชายขอบทั้งสิ้น ซึ่งคนชายขอบในที่นี้ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ตามพื้นที่ชนบท แต่หมายรวมถึงคนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ ก็ถือว่าเป็นคนชายขอบเช่นเดียวกัน ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าระบบราชการของไทย ระบบการเมืองของไทยยังดูแลคนชายขอบ คนยากจนไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม นี่คือปัญหา ขณะที่ครู คำถามคือเราจะเตรียมความพร้อมของครูอย่างไร หากบอกว่านำครูที่เก่งในวิชานี้มาสอน นักเรียนในชนบทจะได้มีโอกาสเรียนกับครูคนนี้ แต่คำถามคือเด็กนักเรียนในชนบท ถ้าฐานความรู้เขามีไม่พอ เขาจะเรียนกับครูที่เก่งได้อย่างไร และในทางกลับกันครูที่เก่งแล้ว เด็กที่เรียนเก่งมาก ๆ อยู่แล้ว เขาอาจจะบอกว่าที่ครูสอนไม่มีประโยชน์ เพราะเขารู้มาหมดแล้ว เขาอยากเรียนมากกว่านี้ นอกจากนี้ก็จะมีเด็กกลุ่มกลาง ๆ จำนวนหนึ่งที่อาจจะพอใจว่าครูที่สอนคนนี้ดี และทำให้เขาเข้าใจได้ ดังนั้นจะมีเด็กอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกตามไม่ทันเลย กลุ่มที่สองได้ประโยชน์ และกลุ่มที่สาม ครูสอนแล้วรู้สึกว่าธรรมดาเกินไป เมื่อเป็นแบบนี้ความหมายคือกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น เขาคิดว่าระบบนี้ระบบเดียวใช้กับนักเรียนได้ทุกคน เหมือนกับตัดเสื้อโหล ตัดชุดนี้มาให้นักเรียนใส่เหมือนกันหมด คิดว่าเรื่องนี้เป็นทัศนคติ และความคิดที่ผิดในขั้นพื้นฐาน เนื่องจากฐานความรู้ ความพร้อมครอบครัวของนักเรียนทั่วประเทศไม่ได้เท่ากัน แล้วเรานำมาเรียนในห้องเรียนเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้ คำถามคือทำไมกระทรวงศึกษาธิการจึงมองไม่เห็นภาพนี้ตั้งแต่ต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นในส่วนของครูเองก็ไม่ถูกต้อง “สิ่งเหล่านี้คิดว่ากระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลาง ควรจะต้องได้ทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่านโยบายจากส่วนกลางชุดเดียวที่จะใช้กันทั้งประเทศ มันใช้ไม่ได้แล้ว จะต้องกำหนดนโยบายที่เป็นกรอบหลักไว้ และเปิดโอกาสให้กับโรงเรียนในภูมิภาคต่าง ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้นำไปปรับให้เข้ากับบริบทเหล่านั้น นี่คือสิ่งที่เป็นแนวคิดพื้นฐานที่คิดว่าคงจะต้องแก้ไข” - โลกเปลี่ยนไปแทบทุกมิติ แต่ยกเว้นการเมือง ที่ยังวนอยู่กับการเมืองแบบเดิม คิดว่าเป็นเพราะอะไร เหตุการณ์ของการเมืองที่เกิดขึ้น การต่อสู้กันของพรรคการเมือง ของกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ในลักษณะที่เอาเป็นเอาตายนี้ คิดว่าเป็นสิ่งที่เรายังเข้าไปไม่ถึงสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งเหล่านี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หากเราดูให้ดี ทุกกลุ่มเขาจะพูดว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมเสมอ ดังนั้นคำถามคือความไม่เป็นธรรมนี้เกิดจากอะไร อยู่ตรงไหนกันแน่ คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และคิดว่าความไม่เป็นธรรมตรงนี้ มันเป็นความไม่เป็นธรรมที่ปลายน้ำ ปลายเหตุแล้ว ความไม่เป็นธรรมที่แท้จริงที่สุดคือความยากจน หมายความว่าประชาชนจำนวนครึ่งหนึ่งของประเทศมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะชีวิตเขายากจนมาตลอดไม่ใช่แค่ 10 ปีที่ผ่านมาแต่ยากจนมา 2-3 ช่วงอายุคนแล้ว เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เราควรจะต้องกลับมาทบทวนกันอย่างจริงจัง ไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่าใครถูก ใครผิด แต่ต้องการถามว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้มันคืออะไร และต้องไม่ใช่ความผิดพลาดที่เราคิดเอาเอง แต่ต้องเป็นความผิดพลาดที่มีข้อมูลจริงรองรับ ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ ที่สำคัญที่สุดถ้าเข้าใจแล้ว และแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ เชื่อว่าเรื่องความขัดแย้งทั้งหมดก็จะคลี่คลาย ประเทศไทยวันนี้สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือประโยชน์จริง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน - การประชุมสภาฯ สมัยสามัญที่เปิดขึ้นล่าสุด นักการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรปรับบทบาทของตัวเองอย่างไรบ้าง นักการเมืองหรือ ส.ส. สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือต้องทำให้กระบวนการประชาธิปไตยนี้เป็นกระบวนการที่คนให้ความเชื่อถือ ให้ความเชื่อมั่น และไว้วางใจว่าส.ส. และสภากำลังทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อชัยชนะทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม แต่ละคน และแต่ละฝ่าย นอกจากนี้นักการเมืองจะต้องพูดเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาของประชาชนให้มากขึ้น เช่น ทำไมจึงไม่มีน้ำในภาคอีสาน ทำไมถึงเกิดความแห้งแล้ง และเราจะแก้กันอย่างไร ทำไมในภาคเหนือถึงมีปัญหาเรื่องราคาลำไยตกต่ำ ทำไมภาคใต้ประมงชายฝั่งจึงไม่สามารถสร้างรายได้ และทำให้ชาวประมงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ที่เราจะต้องแก้ไข พูดง่าย ๆ คือ ส.ส.ในสภา จะต้องช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ถ้าเราทำได้สำเร็จ คิดว่าประชาชนก็มีความรู้สึกว่าส.ส. เหล่านี้คือคนที่เราภาคภูมิใจจริง ๆ หัวใจสำคัญคือการกลับไปแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน “สุดท้ายนี้ ขอฝากสำหรับประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 นี้ ต้องรักษาสุขภาพให้ปลอดภัย ให้หลุดพ้นจากการติดเชื้อไวรัส นี่คือเรื่องสำคัญมาก เพราะชีวิตเราลำบากอยู่แล้ว ยุ่งยากมากพออยู่แล้ว อย่าให้มีโรคภัยไข้เจ็บมาเป็นปัญหากับเรา และอยากให้ประชาชนได้ทบทวนบทบาทของ ส.ส. ในพื้นที่ของตัวเองว่าเขาได้ทำหน้าที่ที่เป็นความหวังให้กับท่านจริงหรือไม่ ที่ผ่านมา 1 ปี ส.ส. ที่เป็นตัวแทนที่ท่านลงคะแนนให้ ได้ทำหน้าที่ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ที่แท้จริงกับท่านหรือไม่ หากเป็น ครั้งต่อไปก็ควรเลือกเขา ถ้าไม่เป็นก็ต้องคิดแล้วว่าจะเลือกคนใหม่ต่อไปอย่างไร”