รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ อดีตอธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Seri Phongphit ระบุว่า โควิดมา โควิดไป การศึกษาไทยอาจเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ถ้าผู้บริหารการศึกษาและรัฐบาลไทยไม่เปลี่ยน mindset ดูแค่การเรียนทางไกลไม่กี่วันก็โกลาหลแล้ว คนไม่พร้อมไม่ใช่แต่ครอบครัวยากจน แต่ผู้บริหารที่ดูเหมือนจนปัญญาด้วย ไม่ได้เตรียมการอะไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจสังคมของนักเรียนที่มีความแตกต่างสูงตามความเหลื่อมล้ำ ที่ไวรัสตัวนี้มาทำให้ “ลึก” กว่าเดิม หรือว่าเด็กๆ เป็นแค่ “หนูทดลอง” ห้องเรียนทางไกล ซึ่งไม่ต้องรอผลการประเมินก็พอเดาได้ว่าเป็นอย่างไร คนข้างบ้านผมทำงานรับจ้าง มีลูก 3 คน สองคนเรียนมัธยม 1 และ 2 ที่บ้านมีทีวีเครื่องเดียว คนหนึ่งเลยเรียนทางทีวี อีกคนทางมือถือ ถามเด็กทั้งสองว่า เรียนเป็นอย่างไร เด็กตอบว่าไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ไม่สนุก ถามพ่อกับแม่ว่าเป็นอย่างไร บอกว่าเด็กเรียนไม่ถึงชั่วโมงก็หลับแล้ว เด็กสองคนนี้เรียนที่โรงเรียน “บ้านนอก” แห่งหนึ่ง จะเหมารวมให้เด็ก “บ้านนอก” จาก “โรงเรียนบ้านนอก” แบบนี้เรียนวิชาเดียวกัน แบบเดียวกันทางทีวีกับเด็กในกรุงเทพฯ ที่เรียนที่สวนกุหลาบ อัสสัมชัญ ได้อย่างไร เรารู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยไม่ได้มีมาตรฐานการศึกษาเดียวกันทั้งประเทศแล้ว ถ้ามี พ่อแม่ผู้ปกครองคงไม่หาทุกวิถีทางให้ลูกได้เข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ ดังๆ เพราะคุณภาพการศึกษาดีกว่า ลูกมีอนาคตมากกว่า เห็นครูนั่งรถยนต์ไปจอดหน้าบ้านเด็ก พ่อเด็กเล่าว่า ครูเอางานมาส่งลูก แล้วถามว่า ทำไมไม่ลงมาพบเด็ก คุยกับเด็ก แค่เปิดประตูรถ ลงมาหน้าบ้านแล้วยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้พ่อของเด็ก แล้วก็ขับรถออกไป เรียนทางไกลไม่ใช่มีครู มีสถานี มีเครื่องส่ง ก็สอนได้เลย เหมือนคนที่อยากทำร้านอาหาร คิดเองว่า ถ้ามีห้องแถว มีโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว ทำกับข้าวเป็นก็เปิดร้านอาหารได้เลย ร้านอาหารส่วนใหญ่จึงได้เจ๊งมากกว่าธุรกิจใดๆ เพราะมีปัจจัยมากมายที่ไม่ได้คิดถึง การเรียนทางไกลก็คงคิดเอาง่ายๆ อย่างนั้นกระมัง รัฐบาลคงได้เห็นปฏิกิริยาของผู้คนทั่วประเทศ เห็นความทุกข์ร้อนของครอบครัวที่ไม่มีปัจจัยการเรียนทางไกล จึงมาบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ได้บังคับ ไม่นานก็ได้กลับไปเรียนในห้องเรียนกับครูแล้ว แล้วถ้าหากว่าโควิดไม่หยุด หรือกลับมาอีกแบบที่ฝรั่งเศสและเกาหลี ที่เปิดเรียนไม่กี่วันก็ต้องปิด เพราะเด็กติดโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ใครที่คิดว่าเด็กมีภูมิต้านทานดี ไม่เป็นไร นั้นคงต้องคิดใหม่ เพราะเริ่มมีสถานการณ์ที่เกิดกับเด็กที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ความจริง การเกิดโควิดน่าจะเป็นโอกาสให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้สื่อต่างๆ ในการสื่อสารทางไกล ซึ่งศตวรรษที่ 21 นี้ สังคมเปลี่ยนเร็วและรุนแรง การเรียนแบบโบราณจะหมดยุค ยังไงก็ต้องเปลี่ยน การใช้สื่อที่หลากหลาย ทันสมัยถือว่าเป็นการเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กเข้าใจหลักสูตรต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องเรียนตามหนังสือเรียนโดยตรง เช่น การใช้สื่อการสอนที่มีสถาบันต่างๆ ทำกันทั่วโลก เข้าไปในเน็ต พิมพ์ว่า top online learning sites ก็จะเห็นสื่อต่างๆ เต็มไปหมด ที่คุ้นเคยและมีชื่อเสียง คือ Khan Academy หรือจะก้าวหน้าตามหลังฟินแลนด์ ที่มีชื่อเสียงว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก แต่ถึงกระนั้น เมื่อสี่ห้าปีที่แล้วก็เริ่มปฏิรูปการศึกษาอีก หันมาเน้นการเรียนแบบเอา “ปรากฎการณ์เป็นตัวตั้ง” (phenomenon-based learning) ไม่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง เรียนจากปรากฎการณ์จริงในสังคม ในโลก โดยไม่ได้เลิกวิชาต่างๆ เพียงแต่เอาเป็นจุดตั้งต้นแล้วโยงไปถึงประเด็นอื่น วิชาอื่น อย่าง “รอบด้าน” หรือที่เรียกให้ขลังว่าอย่างเป็น “องค์รวม” ให้เห็นทั้ง “องคาพยพ” เป็นการเรียนแบบรู้แบบ “บูรณาการ” เป็นการเรียนที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางจริงๆ ด้วยทฤษฎี constructivism ที่เน้นให้เด็กสร้างความรู้ใหม่เอง เลือกหัวข้อประเด็นที่สนใจ โดยครูช่วยให้คำแนะนำ ให้กรอบคิด และให้เด็กตั้งคำถามและหาคำตอบเอง เรียนแบบนี้เรียกว่าเรียนแบบรุก (active learning หรือ proactive) ไม่ใช่แบบรับ (passive) เหมือนเรียนทางไกลจากทีวี หรือที่ครูสอนในห้องเรียนที่ส่วนใหญ่จะเป็น “แบบรับ” การใช้สื่อทีวีมีข้อดีมากมายถ้าใช้เป็น เด็กไม่มีสมาธิเรียนทางทีวีได้เกิน 1 ชั่วโมง นี่ให้เรียนวันหนึ่ง 4 วิชา ถ้าให้ดูหนังสนุกๆ สักเรื่องคงไม่ง่วงไม่หลับ ดูแล้วให้เด็กเขียนว่า ได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ หนังบอกอะไร สอนอะไร ให้แง่คิดอะไรบ้าง เห็นด้วยกับการกระทำของตัวละครหนึ่งในนั้นไหม ฯลฯ คงไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะลอกกัน เพราะให้นำมาให้ครูเมื่อเปิดเรียน หรือเมื่อครูไปเยี่ยมบ้าน (ถ้าไป) แล้วครูก็นำกระดาษที่เด็กเขียนมาอภิปรายต่อในชั้น ดูว่า เด็กแต่ละคนดูหนังเรื่องนั้นแล้วได้อะไร จะทำให้เกิดความคิด คำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ที่ช่วยพัฒนาความคิดของเด็กได้ คุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษกเล่าว่า เด็กที่นั่น (เด็กที่มีปัญหา) เรียนรู้จากการดูหนัง แล้วเอามาถกเถียงเสวนากัน เด็กได้เรียนรู้หลายอย่างจากหนังและจากการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ผมพยายาม "สอนลูกให้คิดเป็น" ผ่านหนังสือ 10 เล่ม หนัง 10 เรื่อง เพราะผมก็เหมือนพ่อส่วนใหญ๋ที่สอนลูกไม่เป็น คือสอนแล้วเขาไม่ฟังเพราะไปเทศน์เป็นส่วนใหญ่ ในการเรียนวิชา “กระบวนทัศน์” ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตและเมื่อก่อนนี้ในสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้ให้นักศึกษา ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่ ดูหนังหลายเรื่อง หนึ่งในนั้น คือ “เทวดาท่าจะบ๊องส์” เป็นหนังดูสนุก ตลก แต่มีสาระที่วิพากษ์การพัฒนาว่า “ไม่ยั่งยืน” อย่างไร เปรียบเทียบกับวิถีดั้งเดิมของชนเผ่าหนึ่งในแอฟริกา เริ่มจากขวดโค้กที่นักบินทิ้งลงมายังหมู่บ้านชนเผ่าในทะเลทราย ชาวบ้านเอาไปใช้แทนสาก แย่งกันจนตีกันหัวแตก นายซี “พระเอก” จึงต้องเดินทางไปหาที่ทิ้งขวดโค้กจนสุดปลายฟ้า ยังมีหนังดีๆ อีกมากมายหลายเรื่องที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี มีสาระและความบรรเทิงไปพร้อมกัน เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีได้ไม่ว่าในยามปกติหรือยามวิกฤติ นี่คือส่วนหนึ่งของการเรียนแบบเอาชีวิตเป็นตัวตั้งของ “มหาวิทยาลัยชีวิต” ที่เรียนแล้วชีวิตต้องดีขึ้น ช่วยตนเองได้ ช่วยคนอื่นได้ “เรียนรู้เพื่ออยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตน” ประเด็นสำคัญของ “มหาวิทยาลัยขีวิต” คือ ช่วยให้ผู้เรียน “เรียนรู้เป็น” ตั้งคำถามเป็น หาข้อมูลได้ เชื่อมโยงได้ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ “ความรู้มือหนึ่ง” ไม่ใช่มือสองในตำรา ซึ่งไม่เพียงพอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้ามีพลังจริง โลกน่าจะเปลี่ยนไปนานแล้ว เพราะเรียนทฤษฎีต่างๆ เหมือนกันหมด นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตทำโครงงานเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง โดยทำแผน 4 แผน คือ แผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ วัดผลโดยให้ครอบครัวช่วยวัดด้วยว่าได้ผลดีมากน้อยเพียงใด เวลาไปเรียนเสาร์อาทิตย์ให้ครอบครัวไปด้วยก็ได้ ฝันว่า วันหนึ่ง จะมีโรงเรียนประถมมัธยมจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วม “โครงการโรงเรียนชีวิต” ที่คณะครูสนใจและร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เอาประเด็นทางสังคมมาเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาและรี่วมมือกันพัฒนาชุมชน ถ้าไม่มีตัวอย่างให้เห็น คงยากที่จะเถียงกันด้วยแนวคิดทฤษฎี เพราะคนมีอำนาจมากกว่าก็มักจะมีเหตุผลมากกว่า และสังคมก็จะมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไป เหมือนการศึกษาทางไกลที่ (ทำเหมือนว่า) ทุกคนเท่าเทียมกัน “แต่มีบางคนที่เท่าเทียมมากกว่าคนอื่น” (Animal Farm – George Orwell) ผมเชื่อว่า มีครูดีๆ มากมายที่มีความตั้งใจอยากปรับเปลี่ยน อยากปฏิรูป วันหนึ่งจะมีคนไปชวน “จุดเทียนขึ้นมาสักเล่มดีกว่านั่งด่าความมืด” (ภาษิตจีน)