รายงาน: เกษตรกรของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีชีวิตมั่นคง รับการถ่ายทอดนำไปปฏิบัติ มีกินมีใช้ยิ้มได้เมื่อยามมีภัย เผยดินเค็มน้ำเปรี้ยวไม่ใช่ข้อจำกัด ปรับปรุงปลูกพืชเลี้ยงปลา ทำให้มีกินมีขายเป็นรายได้ครอบครัวแม้เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด นางสาวชาคริยา วิวรวงษ์ เกษตรกรตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งของสมาชิกเกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เดิมทำการเกษตรด้วยการปลูกมะนาวและเลี้ยงปลาน้ำจืดแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากพื้นที่เดิมเป็นป่าพรุดินมีความเค็มปลูกพืชไม่ได้ น้ำก็เปรี้ยวเลี้ยงปลาไม่ได้ ทั้งปลาและพืชตายหมด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่มาแนะนำการปรับปรุงดินด้วยระบบแกล้งดินตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ยังแนะนำการแก้ไขปัญหาน้ำเปรี้ยว จึงทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากดินมาทำการเพาะปลูกได้น้ำก็ดีขึ้นสามารถนำมาใช้รดต้นไม้และเลี้ยงปลาได้ดี จึงเริ่มปลูกมะนาวด้วยระบบวงบ่อที่สามารถกำหนดปริมาณดินที่จะปลูก รวมทั้งระบบการให้น้ำของต้นมะนาวได้ เพียง 2 ปีก็ประสบความสำเร็จ “ทางศูนย์ฯ ได้ถ่ายทอดวิธีการตอนกิ่งมะนาวเพื่อขยายพันธุ์สำหรับเพิ่มปริมาณการปลูกให้มากขึ้น พร้อมทั้งนำพันธุ์ปลาที่เหมาะสมกับพื้นที่ให้มาเลี้ยงเป็นปลานิล เพาะเลี้ยงง่ายคนชอบกิน เป็นปลาที่มีก้างไม่เหมือนปลาตะเพียน แต่น้ำที่ใช้เลี้ยงซึ่งยังมีความเปรี้ยวปะปนอยู่จึงทำให้ปลาไม่ค่อยโตเท่าที่ควร เลยปรึกษาเจ้าหน้าที่ประมงของศูนย์ฯ ได้รับคำแนะนำว่าให้จับมาผลิตเป็นปลาส้มแทน” นางสาวชาคริยา วิวรวงษ์ กล่าว เกษตรกรของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมถึงกรรมวิธีในการแปรรูปปลานิลเป็นปลาส้มด้วยว่าในการแปรรูปขั้นแรกจะนำปลามาขอดเกล็ดล้างให้สะอาด แช่น้ำเกลือไว้หนึ่งคืนจึงเอาขึ้น ปล่อยให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นเอามาทาแป้งมันก่อน โดยใช้ข้าวหอมมะลิที่คั่วแล้วมาคลุกทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ก็สามารถนำมาประกอบอาหารรับประทานได้ หากต้องการให้ก้างอ่อนตัวมากๆ ก็ปล่อยไว้ประมาณ 10 วัน จึงเอามาปรุงอาหาร ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท สำหรับช่องทางตลาด เมื่อก่อนจะอยู่ในตัวเมืองนราธิวาส แต่ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ตลาดปิด ก็ขายทางออนไลน์ ซึ่งก็ขายหมดอย่างรวดเร็วเช่นกัน และได้นำปลานิลตัวที่โตหน่อยมาแปรรูปเป็นเมี่ยงปลาเผา ซึ่งได้เข้าฝึกอบรมวิธีการแปรรูปจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ให้การสนับสนุนในการอบรมดังกล่าว และได้นำออกขายชุดละ 150 บาท โดยขายเฉพาะวันศุกร์และวันเสาร์ในตลาดตัวเมืองนราธิวาส ขายได้ประมาณวันละ 60 ตัว จนปลาที่เลี้ยงไม่พอต้องไปรับจากเกษตรกรขยายผลรายอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงมาเสริม ส่วนผักเคียงทั้งผักสลัด ใบโหระพา และใบเตยไม่ได้ซื้อ เก็บจากแปลงที่ปลูกข้างบ้าน ทำให้ลดต้นทุนได้อีก นอกจากนี้ยังได้น้อมนำแนวพระราชดำริการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในการดำรงชีพด้วย “ในพื้นที่จะเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และนำพืชหลากหลายชนิดมาปลูกตามแนวทาง คือปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก เช่น พืชผักสวนครัวนานาชนิด กล้วย และฝรั่ง ตอนนี้แม้จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็ไม่ลำบาก ยังมีกินมีใช้ตามปกติทุกอย่างที่ปลูกในพื้นที่ทั้งข้างบ้านและในสวน สามารถนำมาประกอบอาหารกินได้ในครัวเรือน และยังจำหน่ายมีเงินเข้าครอบครัวทุกวัน ต้องขอขอบคุณทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และสำนักงาน กปร. ที่สนับสนุนให้เกิดการขยายผลองค์ความรู้และนำสิ่งดีๆ ภายในศูนย์ฯ มาถ่ายทอดให้กับประชาชนได้นำไปปฏิบัติใช้ทำให้ไม่ลำบาก ไม่อดอยาก มีกินมีใช้ ไม่ว่าสถานการณ์ช่วงนั้นๆ จะเป็นอย่างไร” นางสาวชาคริยา วิวรวงษ์ เกษตรกรกล่าว