คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” อีกผลงานสร้างสรรค์ ตอกย้ำคุณภาพของนักศึกษาอาชีวะไทย ที่สามารถไปคว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติได้ ด้วยผลงานความคิดสร้างสรรค์ สอดรับกับกระแสลดโลกร้อน นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ผลงาน “แผ่นห่อไบโอ” พลาสติกจากเปลือกกล้วย (Bio Plastic Nursery Bag From Banana Peel)” วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold) และ certificate from AsianInvent Singapore (AiSG) 2020 จากเวทีการประกวด AsianInvent TMSingapore (AiSG) 2020 ณ Lifelong Learning Institute ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 2-5 เม.ย.63 ที่ผ่านมา เวทีดังกล่าวเป็นเวทีการประกวดนานาชาติที่รวบรวมผลงานจากความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจากทั่วทุกมุมโลกสู่สิงคโปร์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยมีผู้แทนจากต่างประเทศกว่า 500 คน จาก 16 ประเทศ และจากนักประดิษฐ์ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมและนำเสนอความคิด          สำหรับในปีนี้มีผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 105 ผลงาน ซึ่งผลงาน “แผ่นห่อไบโอ” จากเปลือกกล้วย วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ได้รับคัดเลือกจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดผลงาน แต่ด้วยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2519 (COVID-19) ผู้จัดงานจึงได้จัดทำบูธ เพื่อจัดแสดงผลงานให้แต่ละประเทศ ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคนิค มาบตาพุดได้จัดส่งผลงานเข้าประกวดแบบออนไลน์ จัดส่งข้อมูล และโปสเตอร์เผยแพร่ ในบูธงาน และใช้วิธีสื่อสารนำเสนอกับคณะกรรมการ และผู้ชมงานแบบเรียลไทม์ โดยวิทยาลัยฯ ได้รับการเทรน ฝึกทักษะ การนำเสนอผลงาน จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขอขอบคุณในการสนับสนุนให้ผลงานของนักศึกษาอาชีวศึกษาได้โชว์ความสามารถในระดับนานาชาติ           ด้านอาจารย์รักชนก โคตรพันธ์ ครูที่ปรึกษาผลงาน “แผ่นห่อไบโอ” พลาสติกจากเปลือกกล้วย (Bio Plastic Nursery Bag From Banana Peel)” กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวเป็นของกลุ่มนักศึกษาแผนกวิชาปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ประกอบด้วย นายธนกฤต ดิษฐบรรจง นายวุฒิชัย สมยา และนายเอนก นารีจันทร์ เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษาปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา โดยได้มีการพัฒนาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางออกของการจัดการเชิงรุกในการลดปริมาณขยะพลาสติก ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ และป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งปัญหาปริมาณขยะจากพลาสติกที่เกิดจากถุงเพาะชำต้นกล้าจากภาคเกษตร เป็นอีกหนึ่งปัญหา “แผ่นห่อไบโอ” พลาสติกจากเปลือกกล้วย จึงเป็นทางเลือกเพื่อใช้ทดแทนพลาสติก โดยใช้เปลือกกล้วยเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการผลิต และปรับปรุงคุณสมบัติของเซลลูโลสในเปลือกกล้วย และนำเนื้อเยื่อ-เส้นใยจากต้นกล้วยหรือกาบกล้วยมาขึ้นรูปเป็นถุงเพาะชำ แล้วเคลือบด้วยเซลลูโลส ซึ่งแผ่น “ห่อไบโอ” สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และยังสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์อื่นๆ ได้อีก ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียด กระบวนการสกัดเซลลูโลส และขั้นตอนการทำ “แผ่นห่อไบโอ” พลาสติกจากเปลือกกล้วยได้ที่วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด โทร.038-026-479 หรือhttp://www.mtptc.ac.th