"สศค."ยอมรับเศรษฐกิจไทยทรุดหนักไตรมาส 2 คาดฟื้นตัวช่วงไตรมาส 3 โดยจะใช้งบประมาณจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในก้อนเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ใช้สำหรับเยียวยาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 21 พ.ค.63 นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ยอมรับว่าไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดีหวังว่ารัฐบาลจะรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อไตรมาสที่ 3 และ 4 โดยขณะนี้รัฐบาลก็ได้มีการผ่อนคลายบางธุรกิจแล้ว ซึ่งบางธุรกิจสามารถกลับมาเดินได้ จะทำให้ไตรมาสที่ 3 และ 4 เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสที่ 2 "ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1 อาจจะติดลบไม่ได้เยอะ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ธุรกิจเริ่มปิดกิจการจำนวนมากในเชื่องวันที่ 18 มี.ค.63 ซึ่งเข้ามาช่วงปลายไตรมาส 1 โดยในเดือนที่ 1 และ 2 เศรษฐกิจยังดีอยู่ แต่ได้รับผลกระทบช่วงครึ่งเดือนที่ 3 จึงทำให้ไตรมาส 1 ติดลบเพียง -1.8 % ฉะนั้นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมไตรมาสแรกจึงติดลบน้อย" นายลวรณ กล่าว ส่วนกรณีกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 0.50% ต่อปีนั้น เชื่อว่าจะเป็นผลดีตามหลักเศรษฐศาสตร์ เพราะจะเข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจในช่วงที่ซบเซา โดยการใช้นโยบายการเงินการคลังก็จะมีความสอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ใช้นโยบายการคลังไปมากแล้ว นโยบายการเงินจะเข้ามาสอดรับในส่วนนี้ ทั้งนี้ ที่เอกชนได้เรียกร้องขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการช้อปช่วยชาตินั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่กระทรวงการคลังจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมก่อน คือประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ให้สมารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ และท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจ ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมพิจารณา โดยจะใช้งบประมาณจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในก้อนเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ใช้สำหรับเยียวยาเศรษฐกิจและสังคม