อธิบดีกรมชลฯ เผยพ้นวิกฤติภัยแล้งในรอบ 40 ปี แต่ยังห่วงฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย5% ยังมีฝนทิ้งช่วง เดือนมิ.ย.-ก.ค. ด้านอธิบดีกรมอุตุฯ ยันอย่าเชื่อข่าวปลายปีน้ำท่วมหนักเหมือนปี 54 ระบุไม่พลิกขั้วจากแล้งจัดเป็นท่วมหนัก ชี้แอลนิโญ่-ลานินญ่า มีค่าเป็นกลาง เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงข่าวถึงผลการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี62/63 พร้อมกับบริหารจัดการน้ำฤดูฝนและเตรียมการณ์รับมือปี 2563 ร่วมกับนาวาเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ กรมชลประทาน ดร.ทองเปลว กล่าวว่า กรมชลฯ สามารถบริหารจัดหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ให้พ้นวิกฤติรุนแรงอันดับ 2 ในรอบ 40 ปีรองจากปี 2522 โดยได้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะขอบคุณประชาชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งถือเป็นพระเอกในการทำงานภายใต้สถานการณ์วิกฤติภัยแล้ง เป็นผลให้ทั้งปีมีพื้นที่ประกาศภัยแล้งเหลือเพียง29จังหวัด จากเดิมที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดไว้ว่าจะมีพื้นที่ประกาศภัยแล้งมากถึง58จังหวัด จึงถือเป็นผลงานที่ทุกหน่วยงานร่วมมือกันจนเป็นผลสำฤทธิ์ที่จับต้องได้ ทั้งนี้ แผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-1ต.ค.63 และจากคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีฝนตกต่ำค่าเฉลี่ย 5% กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดการน้ำฤดูฝนปี63 ดังนี้ จะมีการจัดสรรน้ำ ณ 1 พ.ค.63 ประมาณ 11,975 ล้านลบ.ม.จะแบ่งเป็นใช้เพื่ออุปโภค บริโภค 2,980 ล้านลบ.ม.(25%) รักษาระบบนิเวศ และอื่นๆ 3,654 ล้านลบ.ม.(30%) ภาคเกษตร 4,974 ล้านลบ.ม.(42%) ภาคอุตสาหกรรม 367 ล้านลบ.ม.(3%)โดยมีแผนสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2563 โดยสนับสนุนเพาะปลูกข้าวเต็มพื้นที่ชลประทาน 27.61 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 5.4 แสนไร่ และอื่นๆ 10.29 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้มีแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2563 จำนวน 4,000 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นอุปโภค บริโภค 1,480 ล้านลบ.ม.(37%) รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ370ล้านลบ.ม.(9%) การเกษตร 1,800 ล้านลบ.ม.(45%) ผันน้ำแม่กลอง ไปลุ่มเจ้าพระยา 350 ล้านลบ.ม. โดยแผนการเกษตร ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝน 2.4 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปี 9 แสนไร่ พืชไร่ พืชผัก 2.2 แสนไร่ อื่นๆ 1.3 ล้านไร่ “ในปีนี้ กรมชลประทาน หนุนการเพาะปลูกเต็มพื้นที่โดยขอให้พี่น้องประชาชนใช้น้ำฝนทำการเกษตรเป็นหลัก ยกเว้นพื้นที่ไหนแห้งแล้งจริงๆ กรมชลฯจึงจะใช้น้ำเขื่อนเข้าไปเสริม ปีนี้นโยบายของกรมชลฯคือการเก็บน้ำทุกเม็ดเพื่อรักษาปริมาณน้ำให้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ให้ทุกเขื่อนบริหารจัดการน้ำเป็นตามเกณฑ์บริหารควบคุมน้ำ ที่มีการปรับใหม่ให้เป็นแบบไดนามิกส์ หรือพลวัตร “ดร.ทองเปลว กล่าว อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในการประชุม อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ในปีนี้ว่าจะมีพายุโซนร้อนเข้าประเทศไทย 1-2 ลูกในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.-ต.ค.ในแนวพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในเรื่องการคาดการณ์ปริมาณฝนเฉลี่ย จะเห็นว่าฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% ถือเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแบบใหม่ ตามสภาวะอากาศแปรปรวน สามารถเรียกได้ว่าค่าเฉลี่ยปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal รวมทั้งพฤติกรรมการตกของฝน จะตกเป็นจุดๆและมักตกในพื้นที่ขอบประเทศ ขอบแม่น้ำโขง ขอบจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เมียนมา และมาขอบจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมด กรมได้นำโมเดลในอดีตมาวางแผนปฏิบัติรับมือสถานการณ์ นอกจากนี้ กรมได้ใช้โมเดลปี 2538 ที่มีพายุเข้าไทย 1-2 ลูกในเดือนส.ค. ชื่อพายุโลอีส มาวางเป็นเกณฑ์ในการบริหารน้ำ เพื่อกำหนดพื้นที่ได้รับผลกระทบ ในขณะนั้นมีประมาณ 6จังหวัด โดยในปีนี้คาดว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน ศรีสะเกษ ซึ่งเตรียมบริหารจัดการไว้แล้ว รวมทั้งตรวจสอบสภาพของเขื่อน เครื่องมือบริหารต่างๆ ดังนั้นจากอิทธิพลพายุเข้า 1-2 ลูก จะมีให้ฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พ.ย.63 มีน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 52-74% ของความจุอ่างทั้งหมด หรือประมาณ 50,430 ล้านลบ.ม.(71%)ถึง 60,449 ล้านลบ.ม.(85%) มีน้ำใช้การได้ 26,887 ล้านลบ.ม.(57%)ถึง 36,906 ล้านลบ.ม.(78%) ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การได้มากกว่า ปี 2562 จำนวน 3,029 ล้านลบ.ม. แต่ปีนี้สถานการณ์ในลุ่มน้ำแม่กลอง จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ด้านนาวาเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า หลังจากประกาศเข้าฤดูฝนเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ฝนจะตกเฉลี่ยทั่วประเทศเล็กน้อย หลังจากนั้นกลางเดือนมิ.ย.-ก.ค.จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และจะเริ่มตกมาก ตั้งแต่กลางเดือนก.ค.เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นขอให้มุกคนประหยัดน้ำในช่วงนี้ จากนั้นจะเริ่มตกหนักทั่วทุกภาค 60-80% ตั้งแต่กลางเดือนก.ค.-ต.ค.ในขณะที่ภาคใต้จะไปเริ่มฝนตกหนักช่วงเดือนต.ค.63-ม.ค.64 ซึ่งในปีนี้ ดูจากเขื่อนทุกแห่ง ขอให้ฝนตกมาเถอะ ทุกอ่างมีช่องว่างพร้อมรับน้ำได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่กังวลคือฝนตกไม่ต่อเนื่อง แต่ตกเป็นจุดๆ และช่วงพายุเข้า 1-2 ลูก เดือน ส.ค.-ต.ค.บางพื้นที่เสี่ยงท่วมน้ำฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เป็นภัยประจำถิ่นเป็นปกติของพื้นที่ เรียกว่าท่วมซ้ำซาก ตามลักษณะพื้นที่ ทั้งนี้ ขอชื่นชม ทุกหน่วยงานมีการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรมชลประทาน ที่สามารถบริหารน้ำในแล้งวิกฤติครั้งนี้ให้ผ่านมาได้ ลดจำนวนจังหวัดที่ สทนช. คาดจาก 58 จังหวัด ลงมาเหลือ 29 จังหวัด ทำให้เห็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มาเห็นกรมชลฯ วางรูปแบบทำงานรับมือ แม้จะท่วมหรือแล้ง ก็จะเบาลงไปได้ เห็นด้วยกับกรมชลประทาน ได้วางแนวบริหาร โดยใช้แบบจำลองสถานการณ์ปี2538มาเป็นเกณฑ์บริหารน้ำฤดูฝนนี้ เช่น ปี 2560 น้ำเยอะ ใกล้เคียงปี 2554 ยังบริหารจัดการได้ให้ท่วมไม่มาก ซึ่งปีนี้พายุมา 2 ลูก เขื่อนยังรับน้ำได้อีกมากตนเองอยากให้ตกตั้งแต่ตอนนี้เลย ขณะนี้ สถานการณ์ลานินย่า แอลนิโญ ยังอยู่ค่ากลาง ยังไม่มีสัญญาณใดๆว่าจะพลิกขั้วจากแล้งจัดเป็นท่วมหนัก ดังนั้นอย่าเชื่อข่าวลือ เป็นไปไม่ได้ที่ปลายปีน้ำจะท่วมหนักเหมือนปี 2554