กรมการแพทย์แนะเมื่อถูกกัด ให้รีบคีบหัวเห็บออกให้หมดป้องกันอาการเรื้อรัง ระบุถึงมีน้อยรายที่อาการแทรกซ็อนรุนแรงแต่อันตรายถึงชีวิตได้ เริ่มจากเป็นอัมพาตชั่วคราว หลังถูกกัด 4-6 วัน และนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า เห็บมีหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อ มักอาศัยอยู่บริเวณต้นหญ้าสูง ๆ หรือเกาะอยู่กับสัตว์เลี้ยง เช่น หมา หรือ แมว ซึ่งถ้าถูกเห็บกัดจะไม่มีอาการเจ็บ เพราะในน้ำลายของเห็บมีสารที่ทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ แต่อาการที่เห็นชัดเจน คือมีตุ่มนูนบวมแดง ในบางรายที่มีอาการแพ้อาจมีไข้ หรือผื่นลมพิษกำเริบได้ ดังนั้น การรักษาที่ถูกวิธี จะช่วยให้หายจากอาการผื่น บวมแดง หรือแม้กระทั่งอาการอัมพาตชั่วคราวได้อย่างรวดเร็ว พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อถูกเห็บกัดเบื้องต้นให้คีบหัวของเห็บแล้วค่อยดึงออกขึ้นตรง ๆ แต่ต้องระวังอย่าคีบบริเวณลำตัว หรือท้องของเห็บ และไม่บิดคีมขณะที่กำลังคีบเพราะจะทำให้ส่วนปากของเห็บยังคงค้างอยู่ในผิวหนัง จะทำให้อาการเรื้อรังตามมาได้ หลังจากเอาตัวเห็บออกใช้ยาทาลดการอักเสบ บวมแดง ในกรณีที่อาการบวมแดงรุนแรงจำเป็นต้องฉีดยาใต้ผิวหนังแต่ต้องให้แพทย์พิจารณาการรักษาเฉพาะราย โดยทั่วไปอาการที่เกิดจากเห็บกัดมีเพียงอาการเฉพาะที่ พบน้อยมากในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เกิดอัมพาตหลังจากถูกเห็บกัด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นระยะเวลาไม่นานจะเกิดเป็นอัมพาต ซึ่งภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะระบบหายใจล้มเหลวเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการอัมพาตมักเกิดหลังจากถูกเห็บกัด 4-6 วัน ดังนั้น ควรรีบคีบเห็บออกจากผิวหนังทันทีอาการอัมพาตก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว