เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กได้พูดถึงเรื่องสถานที่กักกันตัวของรัฐแล้ว ยังจะมีอีกศัพท์หนึ่ง ที่เรียกว่า อัลเทอร์นาทิฟ สเตทควอรันทีน ซึ่งเป็นสถานที่กักกันตัวทางเลือก เนื่องจากรัฐอนุญาตให้ต่างชาติเดินทางเข้ามา เช่น เจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ ที่มีใบอนุญาตให้เข้าที่ทำงานในประเทศไทย เจ้าหน้าที่สถานทูตฯ ซึ่งนักธุรกิจ เมื่อเข้ามาแล้ว ไม่อนุญาตให้เข้าที่ทำงานเลย แต่ให้เข้าสถานที่ที่รัฐจัดให้ แต่เขามีเงินและขอสถานที่กักกันตัวแบบดีขึ้นมาหน่อย เช่น โรงแรมชั้นดี และโรงพยาบาลชั้นดี และขอจ่ายเงินเอง ซึ่งได้ทดลองทำระบบดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยให้โรงพยาบาลและโรงแรมของเอกชนจับมือกัน และมีกระทรวงสาธารณสุขไปดูแลระบบ เมื่อครบ 14 วันมีบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปตรวจและมีการออกใบรับรองแพทย์ให้ สามารถกลับไปทำงานได้ ปรากฎว่า มีผู้นิยมใช้บริการในด้านนี้เป็นจำนวนมาก และไอเดียนี้จะมีการพัฒนาต่อไป ถ้าหมดพ.ร.ก. ฉุกเฉิน หากมีคนเดินทางเข้าประเทศ และสถานการณ์การติดเชื้อโควิดยังพุ่งขึ้นอยู่ ภาครัฐคงจะอุ้มอย่างเดียวไม่ไหว การจะมารับรองเหมือนเดิมคงจะไม่เกิดภาพนั้นแล้ว ถ้าเดินทางเข้ามาอาจจะให้เลือก ตั้งแต่โรงแรม 6 ดาว เป็นต้น ร่วมกับโรงพยาบาล ที่จะมาจับคู่กัน ฉะนั้นโรงแรมและโรงพยาบาลที่สนใจดูแลคนกลับจากต่างประเทศ ก็ถือเป็นโอกาสหากยังมีการแพร่ระบาดของโรค หรืออาจจะมีนักท่องเที่ยวที่อยากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขการลงทะเบียนใน www.ไทยชนะ.com เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 20 พ.ค. มีร้านค้าลงทะเบียน 73,295 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 6,333,746 คน ส่วนผลการตรวจกิจการ/กิจกรรม ประจำวันที่ 21 พ.ค.ตรวจทั้งสิ้น 21,697 กิจการ/กิจกรรม พบว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามมาตรการแต่ไม่ครบ มีจำนวน 31 กิจการ/กิจกรรม ซึ่งสูงสุดเป็นเรื่องของการเว้นระยะห่าง ขณะที่สายด่วนศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) พบว่า มีการร้องเรียนเรื่องการมั่วสุม /การกระทำผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องการดื่มสุรา 50% อื่นๆ 33% และเล่นการพนัน 17% และเรื่องร้องเรียนการไม่ปฏิบัติตามมาตรการผ่อนคลายวันที่ 21 พ.ค.พบว่า มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 84 เรื่อง สูงสุดเป็นร้านอาหาร 58% รองลงมาร้านเสริมสวย 23%