นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"ระบุว่า [ แค่ไม่ทุจริตงบสู้วิกฤตโควิดยังไม่พอ แต่ประชาชนต้องได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย ] . ประเทศไทยจำเป็นต้องไปสู่อนาคตใหม่ที่ดีกว่าเดิม โดยไม่กลับไปหาอดีตอีก อดีตที่ต้องเลือกระหว่างซื้อหน้ากาก 1 อัน หรือจะซื้อข้าว 1 มื้อ อดีตที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ อดีตที่ช่องว่างทางสังคมกว้างเหลือเกิน ประเทศไทยจำเป็นต้องไปสู่อนาคตที่ประชาชนเป็นใหญ่ อนาคตที่ต้องปฏิรูปรัฐราชการรวมศูนย์ อนาคตที่ปัญหาเชิงโครงสร้างถูกแก้ไข อนาคตที่ระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐาน . จากการที่ผมได้ไปลงพื้นที่มาตลอด 2 เดือน ทำให้ได้เห็นว่าพิษเศรษฐกิจที่ตามมาเป็นเหมือนพายุที่พัดพรมออกไป เผยให้เห็นปัญหาต่างๆของประเทศไทยที่ถูกซุกไว้ ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก มีคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี มีคนที่ต้องออกจากงาน มีคนไม่มีข้าวกิน มีคนที่ต้องเจอเรื่องหนี้นอกระบบที่กู้สองเดือนไม่มีรายได้เข้ามา ทั้งความเดือดร้อนของประชาชนรากหญ้า ที่ไม่ใช่หาเช้ากินค่ำ แต่เป็นหาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ และผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่ประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง และสายป่านยาวอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ยิ่งไปกว่านั้นยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากรัฐบาล สิ่งที่น่ากังวลจากการแก้ปัญหาของรัฐบาล คือในกรณีของประชาชนนั้นมีการคัดกรองทำให้คนเข้าไม่ถึง ตกหล่นเป็นจำนวนมาก คนที่เดือดร้อนแล้วไม่ได้รับการเยียวยา มีมากกว่า คนที่ได้รับการเยียวยา แต่กับในกรณีของธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม SMEs ที่ควรคัดกรองและให้ความช่วยเหลือเฉพาะกับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่น ภาคการท่องเที่ยว หรือธุรกิจกลางคืน ธุรกิจร้านนวด กลับไม่ทำทั้งหมดทั้งมวล . จึงเป็นที่มาที่ทำให้ต้องยื่นญัตติด่วน ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งการติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องการช่วยกันตรวจสอบการทุจริต คอร์รัปชัน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือประเด็นเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้งบประมาณ ประสิทธิภาพดูจากการบริหารจัดการ ถ้าเราต้องการเยียวยาคนใช้เงิน แสนล้าน แต่ค่าบริหารจัดการปาเข้าไป 20% เราก็ต้องท้วงติงว่าควรเปลี่ยนวิธีการหรือไม่ ส่วนประสิทธิผล (effectiveness) คือได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ ถ้าเป้าหมายคือช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนทั้งหมด เราก็จะตามไปดูว่าคุณช่วยได้ทั้งหมดจริงหรือไม่ ตกหล่นกี่เปอร์เซน . ในส่วนประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นโครงการเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด แนวทางที่จะป้องกันคือ สร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบจากประชาชน ต่อให้มีกรรมาธิการจำนวนถึง 100 คน หรือมากถึง 200 คน ก็ดูไม่หมด ต้องให้ประชาชน 60 กว่าล้านคนช่วยกันจับตาดู เพราะนี่คือเงินงบประมาณที่ควรจะเป็นเงินเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศไทย ถ้าได้ไม่คุ้มเสีย หรือพบเห็นความไม่ชอบมาพากล พี่น้องประชาชนสามารถออกมาบอกให้สังคมรับรู้ หรือออกมาแจ้งกับทางกรรมาธิการได้เลย คณะกรรมาธิการยินดีและเต็มใจทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนทุกท่าน . ทั้งนี้การตรวจสอบจำเป็นต้องลงในรายละเอียด และมีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงและหน่วยงาน ดังนั้นหากมีคณะกรรมาธิการ คณะเดียวที่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน ก็จะสามารถเรียกหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร มาสอบถาม ตรวจสอบ ชี้แจง ถึงความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ รวมทั้งการเข้าไปดูระยะเวลาของโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณว่ามีความเหมาะสม รวดเร็วและทันท่วงทีในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนหรือไม่ . สิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องการเสนอผ่านกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้คือให้ทุกหน่วยงาน ส่งแผนงานโครงการ เป้าหมาย, ตัวชี้วัด, ผลลัพธ์ที่ต้องการ รายงานผลการดำเนินงาน, การเบิกจ่ายงบประมาณ และอื่นๆ ต่อกรรมาธิการเป็นระยะ เพื่อติดตามความคืบหน้า และทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างเข้มข้น ลำพังการใช้เวลาอภิปรายเพียง 3 วันย่อมไม่เพียงพอในเรื่องที่สำคัญขนาดนี้ จำเป็นต้องทำงานผ่านทางการมีกรรมาธิการวิสามัญ เพราะนี่คือการใช้จ่ายงบประมาณที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ เป็นเงินกู้ที่จะผูกพันไปอีกหลายปี และที่สำคัญนี่เป็นเงินของพี่น้องประชาชนทุกท่าน . ผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลใช้กลไกรัฐสภาและร่วมกันรับรองญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม #ก้าวไกล #โควิด19 #Covid19 #ประชุมสภา