ธ.ก.ส.มอบเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกร และเปิดตู้ปันรักษ์มอบเมล็ดพันธุ์ผักนำไปปลูกที่บ้านแทนความห่วงใย ไปปลูกที่บ้าน วันนี้( 20 พ.ค. 63 ) นายยุวพล วัตถุ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส. ) ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก นายเศกสันต์ สุขพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จ.ราชบุรี นายประจักษ์ ปฐมานุรักษ์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาราชบุรี นายทศพล เผื่อนทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอเมือง จ.ราชบุรี และนางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส. เขต 1 ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ร่วมมอบเงินสินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท และมอบเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท ให้แก่เกษตรกร หลังจากที่ธนาคาร ธ.ก.ส. ได้เปิดลงทะเบียนโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท ผ่านระบบแอพพลิเคชั่นไลน์ BAAC Family เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนขอรับการสนับสนุนสินเชื่อทั่วประเทศเกือบครบจำนวนตามเป้าหมาย 2 ล้านคนแล้ว ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตกทั้ง 8 จังหวัด มีผู้ลงทะเบียนขอสนับสนุนสินเชื่อทั้งสิ้น 112,737 ราย วงเงินสินเชื่อ 1,127.3 ล้านบาท ขณะนี้สาขาได้เร่งรัดนัดหมายการทำสัญญาเงินกู้และเริ่มจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 6,094 ราย วงเงินสินเชื่อ60.81 ล้านบาท ซึ่งในการทำสัญญาเงินกู้ธนาคารอำนวยความสะดวกโดยเปิดช่องทางให้จัดทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Smart Phone ได้อีกช่องทางหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อลดปริมาณของผู้ใช้บริการที่สาขาตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม นายยุวพล วัตถุ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก กล่าวว่า รัฐบาลมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 จำนวน 10,000 บาท มีเป้าหมายดำเนินการในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้มีผู้ประสงค์ขอใช้สินเชื่อครบ 2 หมื่นล้านบาทแล้ว ธนาคารได้เร่งรัดนัดหมายทำสัญญาเงินกู้ในฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตกและยังได้จัดทำโครงการตู้ปันรักษ์ จะมีเมล็ดผักเป็นสื่อแทนความรักแทนความห่วงใยจากธนาคารที่มีต่อเกษตรกร อาทิเช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง กุยช่าย ผักชี มอบให้แก่ผู้ที่มาขอใช้บริการสินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท เกษตรกรสามารถเลือกเมล็ดพันธุ์ผักเพื่อนำไปปลูกที่บ้านได้ ข้างซองจะมีคิวอาร์โค้ชวิธีการปลูก โดยจะเปิดตู้ปันรักษ์ 68 สาขา นอกจากนี้มีผู้แจ้งความประสงค์ร่วมบริจาคเมล็ดพันธุ์ผัก สามารถบริจาคได้ที่สำนักงาน ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก หรือ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัด ทั้ง 8 จังหวัดในภาคตะวันตกได้ตลอด ส่วนการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จำนวน 10 ล้านราย วงเงินงบประมาณ 150,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มเป้าหมายแรกจำนวน 8.46 ล้านราย หลังได้ตรวจความซ้ำซ้อนกับการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ของรัฐ หรือโครงการอื่น ๆ เบื้องต้นมีผู้ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือกลุ่มแรกจำนวน 6.77 ล้านราย เมื่อ ธ.ก.ส. ได้รับรายชื่อจาก ก.เกษตรและสหกรณ์ จะเร่งดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีผ่าน ธ.ก.ส. ทุกสาขากว่า 1,200 สาขา ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 พค. เป็นต้นไป วันละประมาณ 1 ล้านราย คาดจะดำเนินการกลุ่มแรกแล้วเสร็จภายในวันที่ 26 พค.นี้ นางฉลอง สีม่วงอ่อน อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 139/1 หมู่ 1 ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง กล่าวว่า วันนี้มารับเงินเยียวยาเกษตรกรที่รัฐบาลแจกให้ในระบบแจ้งเตือนมาเมื่อวันที่ 14 พค. รู้สึกดีใจมากที่รัฐบาลช่วยเหลือ หลังได้เงินวันนี้แล้วก็จะเอาไว้ซื้อข้าวสาร และกับข้าวกินในครอบครัว โดยที่บ้านมีอาชีพทำนาปลูกข้าว 20 ไร่ และได้เช่าที่ทำนาไว้ โดยมีหนี้สินอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก อยากจะขอบคุณรัฐบาลที่ได้ช่วยเหลือให้มีเงินใช้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน นายชัยพร คูเม้ง อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 6 ต.บางป่า อ.เมือง กล่าวว่า ระบบแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มาเมื่อวานนี้จึงได้เดินทางมารับเงินและคิดว่าจะเอาไว้ซื้ออาหาร กับข้าว ปุ๋ย ยา มาดูแลสวนมะพร้าวอยู่ประมาณ 5 ไร่เศษ จึงอยากจะขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ช่วยเหลือประชาชนถึงไม่มากมายแต่ก็ช่วยได้ และอยากให้ภาครัฐได้ช่วยเรื่องปุ๋ย เรื่องยาให้มีราคาถูกลงกว่านี้ก็จะเป็นการดีในการช่วยเหลือเกษตรกรอีกจำนวนมาก สำหรับภาพรวมทั้งประเทศธนาคาร ธ.ก.ส. ได้มีการโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมาแล้วจำนวน 2.96 ล้านราย จำนวน 14,812 ล้านบาท ส่วนของฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตกซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 8 จังหวัดได้แก่ เพชรบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ได้โอนเงินแล้วจำนวน 119,492 ราย จำนวน 597.46 ล้านบาท สำหรับ จ.ราชบุรี มีการโอนเงินแล้วจำนวน 14,217 ราย จำนวน 71.08 ล้านบาท ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรและการขึ้นทะเบียนใหม่เพิ่มเติม เมื่อได้รับรายชื่อจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้ว ธ.ก.ส.จะเร่งดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยเร็วต่อไ คาดว่าภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้จะครบถ้วนทุกราย อย่างไรก็ตามบรรยากาศการรับเงินเยียวเกษตรกรได้มีมาตรการเข้ม ในการตรวจวัดอุณหภูมิ การล้างมือ เว้นระยะห่าง การตั้งเต็นท์บริการเก้าอี้ น้ำดื่มฟรีและยังมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และปรึกษาหลายจุดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน..