TPCH เสียบปลั๊กโรงไฟฟ้าชีวมวลปัตตานี ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 23 เมกะวัตต์ เข้าระบบเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว หนุนกำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเป็น 83 เมกะวัตต์ จากเดิม 60 เมกะวัตต์ คาดไตรมาส 2/63 เตรียม COD โรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 3 แห่ง พร้อมลุยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามแผนนโยบายจากภาครัฐ หนุนผลงานสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 23 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตเสนอขาย 21 เมกะวัตต์ โดยได้เริ่ม COD เมื่อวันที่ 19 พ.ค.63เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไร “การ COD โรงไฟฟ้าชีวมวลปัตตานีฯครั้งนี้ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นเป็น 83 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 60 เมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB,MWE,MGP,TSG,PGP และ SGP ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไปแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทยังมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า ส่วนการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์1 (TPCH 1) ,โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์2 (TPCH 2) และโรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์5 (TPCH 5) มีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งคาดว่าจะ COD ได้ภายในไตรมาส 2/63 ส่วนโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ 1 (SP1) คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ผลักดันผลการดำเนินงานสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทยังคงเป้าหมายในการมีใบอนุญาตในการขายไฟฟ้า (PPA) ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ และโรงไฟฟ้าขยะให้ครบ 250 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 110 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่ 50 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ที่ 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งบริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่มีนโยบายจากภาครัฐให้การสนับสนุนอยู่ เพื่อผลักดันให้รายได้และกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง