รายงาน: เขาหินซ้อนฯ สนับสนุนสร้างแหล่งอาหารข้างบ้าน โครงการ “กล้า อิ่ม สุข” แจกฟรีเมล็ดพันธุ์พืชผักแก่ประชาชน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา แจกเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 จากธนาคารเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ฯ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักเอาไว้เพื่อใช้ในกรณีที่มีวิกฤติภัยต่างๆ ในโครงการ “กล้า อิ่ม สุข” รวมเมล็ดพันธุ์ 24 ชนิด ครอบคลุมการปลูก ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว นางสาวเกษร จำปา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ทางศูนย์ได้มีการจัดทำโครงการให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้ โดยมีการเตรียมต้นกล้าพันธุ์ไม้หลายชนิดเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน นำไปปลูกในพื้นที่ของตนเองสำหรับบริโภคในครัวเรือน หรือนำไปขยายพันธุ์เพื่อปลูกเชิงพาณิชย์ ซึ่งเมล็ดพันธุ์พืชผักที่แจกจ่ายในครั้งนี้มีจำนวน 24 ชนิด จากธนาคารเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ฯ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้สนับสนุนให้ศูนย์ฯ ดำเนินการเพาะขยาย เป็นเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ ตามพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ที่ได้พระราชทานให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักเอาไว้เพื่อใช้ในกรณีที่มีวิกฤติภัยต่างๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกของประชาชนจะเสียหาย และมีปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ปลูกในฤดูกาลต่อไป โดยศูนย์ได้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ปี 2560 เป็นต้นมา “ทางศูนย์ฯ ได้จัดทำโครงการ “กล้า อิ่ม สุข” เพื่อสืบสานแนวทางการดำเนินชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างภูมิคุ้มกัน” ในการตั้งหลักใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางอาหาร โดยแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และผู้สนใจทั่วประเทศไทยเพื่อนำไปเพาะปลูกสามารถต่อยอดชีวิตที่ดีจากการบริโภคผักสด และปลอดภัยที่ปลูกด้วยตัวเอง โดยโครงการดังกล่าวมีเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในธนาคารเมล็ดพันธุ์มากพอควรที่จะนำออกมาแจกจ่ายจำนวน 14 ชนิดพันธุ์พืช และจากเครือข่ายที่เป็นเกษตรกรขยายผลรอบๆ ศูนย์ รวมทั้งเกษตรกรอินทรีย์สนามชัยเขต ที่เข้ามาร่วมโครงการรวมแล้วเป็น 24 ชนิดพืช 3 กลุ่มหลักๆ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 พืชอายุสั้น มีอายุตั้งแต่ปลูกถึงการเก็บเกี่ยวระยะเวลา 45 วัน สามารถเก็บผลผลิตมาบริโภคได้ เช่น ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว มะเขือเปราะ เป็นต้น กลุ่มที่ 2 พืชที่มีอายุปานกลาง ใช้เวลาปลูกประมาณ 60-90 วัน จึงจะเก็บผลผลิตได้ เช่น ข้าวโพด บวบ น้ำเต้า เป็นต้น กลุ่มที่ 3 เป็นพืชประเภทที่ใช้เวลาเพาะปลูกประมาณ 3 เดือนขึ้นไป จึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ประกอบด้วย พริกขี้หนู มะละกอ ถั่วพู บวบ ชมจันทร์ เป็นต้น” นางสาวเกษร จำปา กล่าว ผอ.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงการแบ่งประเภทเมล็ดพันธุ์พืช เนื่องจากเวลาแจกจ่ายแก่เกษตรกรหรือประชาชนจะมีการคละเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ เพื่อให้ปลูกได้ทั้ง 3 ระยะ ทั้งสั้น กลาง และระยะยาว จะทำให้การเก็บเกี่ยวสามารถเชื่อมโยงกันได้ เช่นปลูกพืชระยะสั้นก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวถึงช่วงการปลูกพืชระยะกลาง และเก็บเกี่ยวได้นานไปจนถึงพืชระยะยาวออกผลผลิต โดยพืชระยะยาวจะสามารถเก็บเกี่ยวได้แบบข้ามปี อย่างมะละกอ เมื่อเริ่มเก็บเกี่ยวแล้วจะมีผลผลิตอย่างต่อเนื่องร่วม 7 ปี สำหรับเมล็ดพันธุ์ทั้ง 24 ชนิดพืชนั้น ประกอบด้วย 1)ถั่วฝักยาวพุ่ม 2)ถั่วฝักยาว 3)ถั่วเขียว 4)ถั่วดำ 5)ถั่วลายทหาร 6)ถั่วพู 7)ข้าวโพดฉัตรทอง 8)ข้าวโพดเทียนอยุธยา 9)กระเจี๊ยบแดง 10)กระเจี๊ยบเขียว 11)หมามุ่ยอินเดีย 12)มะเขือเปราะ 13)น้ำเต้า 14)อัญชัน 15)มะเขือหยกภูพาน 16)บวบเหลี่ยม 17)มะละกอ 18)พริกขี้หนู 19)ชมจันทร์ 20)บวบหอม 21)กระเจี๊ยบมณีแม่โจ้ 22)ถั่วสิรินธร 23)ข้าวโพดตักหงาย และ 24)ถั่วพูสีม่วง ผู้สนใจส่งจดหมายที่ภายในใส่ซองจดหมายเปล่าพร้อมติดแสตมป์ แล้วจ่าหน้าซองระบุชื่อ นามสกุล บ้านเลขที่ ตำบลที่อยู่ อำเภอ และจังหวัด พร้อมรหัสไปรษณีย์อย่างชัดเจนถึงตัวเอง แล้วส่งมาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริเลขที่ 7 หมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา 24120 พร้อมระบุเมล็ดพันธุ์พืชผักที่ต้องการ โดยโครงการจะแจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจท่านละ 1 ชุด ประกอบด้วยพืช 5 ชนิด ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร 081-686-0639 “ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2563 ศูนย์ศึกษาฯ จะดำเนินการเปิดอบรมให้ความรู้ขยายผลเรื่องการตอนกิ่ง การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลาน้ำจืด และการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ ได้ศึกษาทดลองและประสบความสำเร็จแล้วมาขยายผล ที่สำคัญจะมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน โดยจะมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เช่น การเว้นระยะห่าง การป้องกันในระหว่างการฝึกอบรมอย่างเข้มงวด โดยจะเน้นขยายผลสู่เกษตรกรที่อยู่รอบศูนย์ฯ ตามด้วยเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น ผู้ที่ไม่มีงานทำและต้องการความรู้เหล่านี้เพื่อนำกลับไปทำที่บ้านของตนเองต่อไป” นางสาวเกษร จำปา ผอ.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ กล่าว