วันที่ 18 พฤษภาคม ที่จังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดตรัง นางพรทิพา อัครสุต อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง นายมานพ แก้วอัมพร เกษตรจังหวัดตรัง นายพิชัย มะนะสุทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง นายประชา งามรัตนกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน)  ณ สวนทองลิขิต 26 หมู่ 2 ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง นายขจรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ได้นำภาคส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจเยี่ยมสวนทุเรียนทองลิขิต ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งสวนเกษตรกรที่มีผลผลิตคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดจนผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของในจังหวัดตรังและนอกจังหวัด โดยนำพันธุ์ที่มีชื่อเสียงและที่เป็นความต้องการของตลาดมาผสมผสาน เช่น พันธุ์หมอนทอง พันธุ์หลงลับแล พันธุ์พวงมณี พันธุ์หมอนเขียว เป็นต้น มาปลูกในพื้นที่จังหวัดตรัง ในการนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมผลักดันการตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยเฉพาะการส่งเสริมการตลาดออนไลน์ ออฟไลน์ และการซื้อขายล่วงหน้า อีกทั้งให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ ขณะเดียวกันสามารถเป็นต้นแบบในการส่งเสริมผลไม้อื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าจังหวัดตรังให้มั่นคงยั่งยืนต่อไป ทางด้านนางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดตรัง ได้กล่าวว่า ในการเดินทางมาตรวจเยี่ยมชมสวนแห่งนี้ ก็เพื่อดูผลิตผลผลไม้ทุเรียน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในช่วงฤดู และเพื่อส่งเสริมผลไม้ที่มีศักยภาพ โดยสวนแห่งนี้เป็นสวนที่ตัวอย่างของจังหวัดตรัง ในการที่จะดูลู่ทางส่งเสริมให้ขายได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สร้างมูลค่าให้มากขึ้นตามความต้องการของตลาด โดยผลไม้ที่นี่มีความหลากหลาย สามารถนำพันธุ์จากที่อื่นมาปลูกและสร้างมูลค่าได้มาก เพื่อที่จะวางแผนในการตอบสนองกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้เน้นกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ตั้งแต่วิธีการปลูก การดูแล บำรุงรักษา และการรักษาคุณภาพตามความต้องการของตลาด ส่วนทางด้าน นายบุญเชี่ยว ชัยเกษตรสินธ์  หรือลุงเชี่ยว เจ้าของสวนทองลิขิต กล่าวว่า สวนแห่งนี้มีเนื้อที่ 80 กว่าไร่ ตนปลูกทุเรียน 10 กว่าไร่ประมาณ 200 ต้น โดยมีหลายสายพันธุ์ อาทิ หลงลับแล หลินลับแล ชะนี หมอนทอง ก้านยาว มูซังคิง สาลิกา เป็นต้น โดยปลูกมาประมาณ 38 ปี ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ และจะเน้นลูกค้าทางออนไลน์เป็นหลัก รายได้เฉลี่ยไร่ละประมาณ 1 แสนบาท ขณะนี้ก็มีลูกค้ามาซื้อตลอดโดยทางไลน์บ้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงยุคโควิด แต่ก็ยังสามารถทำการค้าได้พอสมควร นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาสายพันธุ์ทุเรียน โดยนำพันธุ์พื้นบ้านมาทาบกิ่งกับพันธุ์หมอนทอง ซึ่งตั้งชื่อพันธุ์ใหม่ว่า พันธุ์ทองลิขิต คาดว่าจะเป็นพันธุ์ทุเรียนที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรต่อในอนาคต