เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 18 พฤษภาคม นายสุนทร แพงไพรี รักษาการนายกสมาคมผู้ประกอบการม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะคณะทำงานควบคุมและป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าจังหวัดนครราชสีมา ประสานขอกำลังอาสาสมัครหน่วยกู้ภัยฮุก.31 นครราชสีมา ดำเนินการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค BKC (Benzalkonium Chloride) หรือ Sanisol สารทำความสะอาดและมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคเช่น แบคทีเรีย ไวรัสในคอกม้าที่ตั้งอยู่ละแวกชุมชนหลังวัดสุทธจินดา วัดหนองบัวรอง หนองไผ่ล้อม หนองโสน รวมกว่า 30 คอก เพื่อกำจัดแมลงดูดเลือดทั้งยุง ริ้น ฯ พาหนะนำโรคสู่ม้า นายสุนทร เปิดเผยในฐานะคณะทำงานตามคำสั่งของนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า สายพันธุ์ Serotype 1 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่พบครั้งแรกในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียารักษาจำเพาะและไม่ติดต่อสู่คนและปศุสัตว์ สาเหตุแมลงดูดเลือดเช่นริ้น ยุง ฯ พบม้าป่วยและตายเฉียบพลันตัวแรก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม จากนั้นได้เกิดการแพร่ระบาดในฟาร์มม้าจำนวน 47 แห่ง พื้นที่ ต.ปากช่อง ต.ขนงพระ ต.หมูสี ต.โป่งตาลอง ต.หนองน้ำแดง และ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเพาะพันธุ์ม้าแข่งชื่อดังของประเทศไทย ทำให้ม้าแข่งชื่อดังในอดีตและปัจจุบันและลูกม้ารวมทั้งม้าประเภทอื่นๆ ป่วยด้วยอาการไข้สูง ขอบตาบวมแดง หน้าตาบวมหายใจติดขัดเสียงดังเกร็งและตายในเวลา 24-48 ชั่วโมง ล่าสุดมีม้าตายสะสมจำนวน 550 ตัว ประเมินมูลค่าความเสียหายหลายสิบล้านบาท “ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ค่อนข้างคลาดเคลื่อน เช่นผู้ประกอบการม้าแข่งแจ้งม้าป่วยล่าช้าทำให้โรคลุกลาม เจ้าของม้าแข่งส่วนใหญ่เป็นเอกชนมีฐานะค่อนข้างดีถือเป็นการสื่อไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผู้เกี่ยวข้องกับวงการม้าแข่งมีทุกสถานะและมีอัตราเก็บภาษีสูงมาก จึงถือเป็นพลเมืองประเทศไทยต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาคและการอนุญาตให้จัดม้าแข่ง ทุกฟาร์มต้องจัดทำมุ้งขาวและฉีดวัคซีนก่อน ขณะนี้ยังไม่พบม้าป่วยในพื้นที่ อ.เมือง จึงไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามคำชี้แนะของกรมปศุสัตว์ ทั้งนี้ทุก 7-10 วัน สมาคมได้จัดกิจกรรมเฝ้าระวัง โดยฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคพร้อมสร้างความรับรู้ด้านสุขาภิบาลให้ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ของแมลงดูดเลือดและประชาสัมพันธ์ของความร่วมมือผู้ประกอบการม้าแข่งให้ช่วยเป็นหูเป็นตา ห้ามเคลื่อนย้ายม้าจากพื้นที่ อ.ปากช่อง เข้ามาในเขตเมืองอย่างเด็ดขาดและให้คัดกรองม้าป่วยต้องแยกออกทันทีและอุปกรณ์ต่างๆห้ามใช้ร่วมกัน คนเลี้ยงหรือผู้เกี่ยวข้องก่อนและหลังสัมผัสม้าให้ทำความสะอาดร่างกายและสวมถุงมือทุกครั้งรวมทั้งดูแลสอดส่องการเคลื่อนย้ายม้านอกเขต ซึ่งอาจเป็นม้าที่ป่วยและเป็นพาหะนำโรคม้าได้” รักษาการนายกสมาคมม้าแข่ง กล่าว นครราชสีมา/เกษม ชนาธินาถ