เมื่อ “เธียร”นำเสนอโครงการที่บริษัทต้องดำเนินการที่เมืองทวาย ประเทศพม่า โดยมีการพูดลงรายละเอียดไปถึงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อจากกาญจนบุรีไปเมืองทวาย ระยะทางยาว 160 กิโลเมตร มีทั้งท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรม การนำเสนอของ “เธียร”ซึ่งเป็นพระเอกในเรื่อง “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี” พร้อมกับลงพื้นที่ที่อ้างว่าคือเมืองทวายของนางเอกและเพื่อนๆในบริษัท ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ดูน่าสนใจและมีภาพลักษณ์ที่ดี แต่นั่นเป็นเพียงข้อมูลด้านเดียว ละครเรื่อง “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี”ออกอากาศหลังข่าวภาคค่ำทุกๆวันจันทร์-อังคาร ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งดำเนินมาได้กว่าค่อนเรื่องแล้ว โดยเป็นละครแนวรักฝังใจของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีต่อชายรุ่นพี่ พระเอกคือเธียรวัฒน์ นวนาวากุล (หรือพี่เธียรของนางเอก)ซึ่งแสดงโดยหมาก-ปริญ สุภารัตน์ และนางเอกคือนทีริน สวัสติรัตน์ หรือเมยที่แสดงโดยนิษฐา จิรยั่งยืน ละครเรื่องนี้ผลิตโดยบริษัททอง เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กำกับการแสดงโดยอำไพพร จิตต์ไม่งง เขียนบทโทรทัศน์โดยปณธี และผู้จัดคือแอน ทองประสม จริงๆแล้วเนื้อเรื่องของละครก็ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน เป็นเรื่องความรักของเด็กสาวคนหนึ่งที่มีต่อชายหนุ่มรุ่นพี่ซึ่งตอนแรกเขาคิดกับเธอเป็นเพียงแค่น้องสาว แต่มีความจำเป็นที่ทั้งคู่ต้องแต่งงานกัน ซึ่งเรื่องก็น่าจะลงเอยได้เลย แต่ในช่วงท้ายมีการผูกโยงให้ทั้งหมดต้องเดินทางไปทำงานที่เขตเศรษฐกิจเมืองทวาย ประเทศพม่า(แต่การถ่ายกลับไม่มีชื่อเมืองทวาย แต่ถ่ายทำกันที่นครย่างกุ้ง พุกามและอินเล) บทละครเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะสร้างมุมบวกให้กับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอยู่พอสมควร แต่ถ้าจะดูละครเรื่องนี้ให้ได้อรรถรสยิ่งขึ้น เราควรที่จะรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงอีกหลายๆมุมมิใช่หรือ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวเมืองทวาย 1. ทวายเป็นเมืองหลวงของภาคตะนาวศรี (Tanintharyi) ทางตอนใต้ของประเทศพม่า ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เมืองหลัก ได้แก่ ทวาย (Dawei) มะริด (Myeik) เกาะสอง (Kawthong) 2. ประชากรในทวายประกอบมีหลากหลายชาติพันธุ์ นอกจากชาวทวายแล้ว ยังมีมอญ กะเหรี่ยง พม่า และซันโลง (ชาวเล) นับถือทั้งศาสนาพุทธ มุสลิม คริสต์ ฮินดู 3. ทวายเคยเป็นหัวเมืองภายใต้ของอาณาจักรอยุธยา สลับกับการยึดครองของพม่า ครั้งสุดท้ายที่ไทยเสียเมืองทวายคือก่อนอยุธยาถูกตีแตกเมื่อปี 2310 โดยคราวนั้น มีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพแผ่นดินพระเจ้ามังระ ก่อนพระเจ้าตากสินตีกลับคืนมาได้ และไทย(สยาม) พยายามอีกหลายครั้งที่จะกลับไปยึดครองทวาย แต่ด้วยเส้นทางเดินทัพที่ยากลำบากกว่าได้มาก็เสียคืนให้พม่าเสมอ จนถึงรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ไม่เคยได้ทวายกลับมาอีกเลย 4. ในปี พ.ศ. 2335 พระยาทวาย หรือมังจันจ่า ได้นำชาวทวายหลบหนีกองทัพพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยความดีที่เคยดูแลช่วยเหลือเชลยจากกรุงศรีอยุธา รัชกาลที่ 1 จึงได้พระราชทานที่ดินให้มังจันจ่าเป็นหัวหน้าปกครองชุมชนและชาวเมืองทวายที่มาด้วยกัน เรียกว่าบ้านทวาย มีการสร้างวัดชื่อวัดดอนทวาย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบรมสถล หรือวัดดอน ตั้งอยู่ในเขตยานนาวา กทม. 5. ทวายเป็น 1ใน 3 เมืองแรก ที่อังกฤษใช้เข้ายึดพม่าพร้อมกับยะไข่ และอัสสัม (เคยถูกขนานนามว่า แสงแรกแห่งตะวันตก) ก่อนแผ่อิทธิพลขึ้นเหนือทางมะละแหม่ง ย่างกุ้ง ในปี 2367 (ค.ศ.1824 ตอนนั้นย่างกุ้งยังไม่เป็นเมืองหลวง) และในที่สุดก็เข้ายึดครองเมืองพม่าในตอนนั้นคือกรุงมัณฑะเลย์ได้สำเร็จ ทำให้เมืองทวายมีอาคารบ้านเรือนที่ตกทอดมาจากยุคอาณานิคมมากมาย กลายเป็นชุมชนที่มีบรรยากาศของความใหม่และความเก่าผสมผสานกันอย่างลงตัว 6. ทวายเป็นจุดเริ่มต้นที่นายพลอองซาน (บิดาของนางอองซานซูจี) รวบรวมกองทัพ ที่เรียกว่า Burma Independence Army (BIA) ในการต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษ และกองทัพอิสระแห่งพม่านี้ได้ถูกประกาศก่อตั้งอย่างเป็นทางการที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2484 (1941) และทำสำเร็จในปี 2491 (1948) 7. ทะเลทวายเป็นทางออกสู่ทะเลอันดามันที่ใกล้กรุงเทพ (และอาณาจักรอยุธยา) มากที่สุด จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการค้ากับตะวันตกมาทุกยุคสมัย 8. ผลผลิตที่สำคัญของทวาย ได้แก่ อาหารทะเล หมาก มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา และแร่ธาตุหลายชนิด อีกทั้งยังเคยเป็นแหล่งผลิตโลหะที่สำคัญในอดีต 9. ช่วงปี 2363 มีอหิวาตกโรคระบาทในสยาม จึงมีการรณรงค์ให้กินแต่ของสุก ซึ่งยำทวายทำทุกอย่างปรุงสุกแม้กระทั่งผักที่ใช้ในยำจึงเป็นที่นิยม ว่ากันว่ายำทวายตกทอดมาจากคนทวายที่มาอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยามในยุคนั้น และแพร่หลายมาถึงคนสยาม 10. ตลาดสด อ.ต.ก.ในปัจจุบัน เมื่อก่อนไม่ได้ใหญ่โตอย่างทุกวันนี้ เมื่อตลาดใหญ่ขึ้น ความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น เริ่มมีคนทวายเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างจนระยะหลังมีการชักชวนกันมาต่อเนื่อง ปัจจุบันชุมชนวัดไผ่ตัน ซึ่งอยู่ใกล้ ตลาด อ.ต.ก เป็นชุมชนที่แรงงานชาวทวายเช่าบ้านอาศัยอยู่เยอะที่สุดในกรุงเทพมหานคร 10 เรื่อง ที่ละครยังไม่ได้พูดถึงเกี่ยวกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย 1. บริษัทที่เธียร-พระเอกในละครเรื่องนี้ทำงานชื่อ TPC ส่วนในความเป็นจริงบริษัทที่ดำเนินการโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย คือ อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ปัจจุบันโครงการอยู่ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาล 3 ประเทศได้แก่ เมียนมา ไทย และญี่ปุ่น 2. เป็นเวลา 12 ปีมาแล้วที่มีการลงนามทำโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (พฤษภาคม 2551) แต่ไม่มีความคืบหน้ามากนัก ในแง่ของการลงทุนและการพัฒนาพื้นที่ อีกทั้งแทบไม่มีการสร้างงานให้ชาวบ้านตามที่อ้าง ในขณะที่ผลกระทบจากการก่อสร้างในระยะเริ่มต้นหลายอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน 3. เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เธียรพูดถึงในเรื่อง กินพื้นที่ถึง 196 ตารางกิโลเมตร (ปรับลดจากเดิม 250 ตารางกิโลเมตร) หรือใหญ่ประมาณ 10 เท่าของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 4. การเตรียมพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทำให้ชาวบ้านอย่างน้อย 19 หมู่บ้าน (ตามประกาศของบริษัท) ได้รับผลกระทบ หลังจากบริษัทเข้าไปดำเนินการเมื่อปี 2553 ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากสูญเสียบ้านและที่ดินทำกิน ระบบนิเวศที่สำคัญ เช่น ป่าชายหาดและป่าชายเลนในพื้นที่โครงการถูกทำลาย สัตว์น้ำหายากขึ้นหรือหายไปจากพื้นที่ 5. เส้นทางถนนที่พระเอกพูดถึงในละคร จากกาญจนบุรีไปทวาย ซึ่งตัดผ่านเทือกเขาตะนาวศรีและผ่านหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง และชาวทวาย ระยะทางประมาณ 138 กม. ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากสูญเสียที่ทำกิน ชาวบ้านหลายรายไม่ได้รับค่าชดเชย บางรายได้รับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังสูญเสียโอกาสในการทำมาหากิน เช่น แม่น้ำถูกถมเพื่อตัดถนนผ่านทำให้ลำธาร หนองบึงเสียหาย สัตว์น้ำ พืชผักตามธรรมชาติหมดไป ผลสุดท้ายชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายจากความจำเป็นต้องซื้ออาหารมากขึ้น 6. ถนนเส้นดังกล่าวตัดผ่านเทือกเขาตะนาวศรี เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ในปี 2562 (2019) WWF ได้ออกรายงานผลการสำรวจที่ระบุว่า การตัดถนนจะไปรบกวนและสร้างผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร ของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด อาทิ เสือโคร่ง (tiger) เสือดาวลายเมฆ (cloud leopard) กระทิง (gaur) สมเสร็จ (Asian tapir) กวางป่า (sambar deer) หมีควาย (Asia black bear) หมีหมาหรือหมีคน (sun bear) ชะนีมือขาว (white – handed gibbon) และช้างเอเชีย (Asian Elephant) และอาจเป็นการเปิดทางให้พวกมันถูกล่าได้ง่ายขึ้นและเสี่ยงภัยหรือได้รับอันตรายจากการคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต 7. ถนนเชื่อมต่อนี้ ได้รับเงินสนับสนุนการศึกษาและการก่อสร้างจากรัฐบาลไทย เมื่อปี 2558 ในรูปเงินกู้ผ่อนปรน จำนวน 4,500 ล้านบาท ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) 8. โครงการสำคัญที่อาจไม่ได้ถูกพูดถึงในละคร ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย คือ โครงการอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะอยู่บริเวณทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยถูกคาดหมายให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อป้อนน้ำไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกินพื้นที่ราว 7 - 12 ตารางกิโลเมตร หากสามารถสร้างโครงการนี้สำเร็จน้ำจะท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของหมู่บ้านกาโลนท่า ชาวบ้านมากกว่า 1,000 คน จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ 9. ทางบริษัทผู้พัฒนาโครงการได้จัดสร้างบ้านเรือนจำนวน 480 หลัง ในพื้นที่หมู่บ้านบาวาร์ เพื่อเป็นหมู่บ้านอพยพที่จะรองรับชาวบ้านที่ถูกโยกย้ายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ ปัจจุบันบ้านเรือนที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้มีผู้อยู่อาศัยอยู่เพียง 1ครอบครัวเท่านั้น โดยไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา และไฟฟ้าตามที่ได้สัญญาไว้กับชาวบ้าน 10. โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และเคยยื่นเรื่องเพื่อให้กคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทย (กสม.) ตรวจสอบ โดยรายงานผลการตรวจสอบระบุว่าบริษัทผู้ดำเนินได้ดำเนินโครงการที่ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน พร้อมเสนอให้ทางบริษัทชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม อีกทั้งยังเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งกลไกหรือกำหนดภารกิจการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทยให้เคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน