สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ยังไม่คลี่คลาย 2 อ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองยังอยู่ในขั้นวิกฤต ขณะผู้ว่าราชการจังหวัด หารือร่วมหลายหน่วยงาน เร่งหาน้ำสำรอง พร้อมวอนประชาชนใช้น้ำประหยัดป้องกันขาดแคลนน้ำ วันที่ 18 พ.ค.2563 สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ยังไม่คลี่คลาย ถึงแม้ช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นมากนัก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ.เมืองบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาบุรีรัมย์ ให้บริการประชาชน ในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ และ อ.ห้วยราช กว่า 34,000 ครัวเรือน มีปริมาณลดต่ำลง ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต จึงเกรงจะไม่มีน้ำดิบเพียงพอในการผลิตประปาบริการประชาชน ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เหลือน้ำกักเก็บเพียงกว่า 39,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 0.15 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 26 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด เหลือน้ำกักเก็บเพียงกว่า 6,000 ลบ.ม. หรือเฉลี่ย 0.02 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 30.852 ล้านลูกบาศก์เมตร จากผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้งดังกล่าว นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายสัญญ์ธวัชช์ ริ้วเหลือง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ นายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ นายบรรจง เทพเกษตรกุล ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาบุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเมืองบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงตัวเมือง และเขตเศรษฐกิจสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปามีปริมาณลดต่ำลง จึงต้องเร่งหาน้ำดิบสำรองให้เพียงพอต่อการผลิตประปา ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาเรื่องน้ำ และพยายามทำทุกวิธีทาง เพื่อให้มีน้ำดิบเพียงพอในการผลิตประปาบริการประชาชน ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้อยากขอความร่วมมือประชาชนได้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ เพื่อให้มีน้ำประปาอุปโภคบริโภคได้นานยิ่งขึ้น จนกว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งจะเป็นปกติ หรือภาวะฝนทิ้งช่วงจะสิ้นสุดลง ซึ่งขณะนี้ก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว