สภาการหนังสือพิมพ์ฯ พร้อมองค์กรสมาชิก และตัวแทนองค์กรวิชาชีพ ร่วมกันแถลงข่าวจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร เพื่อยกระดับการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมด้วยตัวแทนองค์กรสมาชิก และองค์กรวิชาชีพ อันได้แก่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดการแถลงข่าวการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร หรือ Media Ombudsman ขึ้นในองค์กรสมาชิกซึ่งเป็นสื่อหนังสือพิมพ์จากทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการกำกับดูแลกันเองให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว นายชวรงค์ ลิมปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่จะประกาศให้ทราบว่า กลไกการปฎิรูปสื่อที่สังคมเรียกร้องนั้น วันนี้สื่อได้ปฏิรูปกลไกการกำกับดูแลกันเอง โดยเฉพาะในส่วนของหนังสือพิมพ์ และเวปไซต์ข่าวที่เป็นของสมาชิก โดยเป็นการเกิดขึ้นของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตัวเอง ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อจัดตั้งกรรมการพิจารณาร้องเรียนภายในองค์กร เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถูกละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ สามารถร้องเรียนสื่อที่ละเมิด มีการทำข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพออกมาเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกรอบวิชาชีพ โดยในส่วนภูมิภาค จะมีการจัดตั้งตามภาคต่างๆ สำหรับส่วนกลางก็จะดำเนินการในองค์กรของตัวเอง โครงสร้างของคณะกรรมการ จะมาจากเจ้าของหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการ ผู้ปฎิบัติงาน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย ด้านคุ้มครองผู้บริโภค หรือนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน โดยรวมกันไม่น้อยกว่า 3 คน และไม่เกิน 7คน เมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น ตามธรรมนูญเดิมให้ร้องเรียนไปที่ต้นสังกัด หรือองค์กรนั้นๆ แต่ส่วนมากประชาชนจะมาร้องเรียนที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ซึ่งทำให้กระบวนการตรวจสอบล่าช้า ดังนั้นเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรขึ้นมา ก็ทำให้สามารถร้องเรียนได้ทั้งที่องค์กร และสภาการหนังสือพิมพ์ รวมถึงมีอำนาจการสั่งการตรวจสอบได้โดยตรง แต่การพิจารณาจะต้องเสร็จภายใน 30 วัน หากผู้ร้องยังไม่พอใจผลการพิจารณา ก็สามารถอุทธรณ์มาที่สภาการหนังสือพิมพ์ได้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ดำเนินการลักษณะนี้เช่นกัน อันจะส่งผลให้หนังสือพิมพ์ของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นก้าวแรกที่แสดงความมุ่งมั่นในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน แต่อาจยังไม่เป็นคำตอบทั้งหมด เพราะต้องตอบสังคมให้ได้ว่า สื่อมวลชนสามารถกำกับดูแลกันเองได้หรือไม่ในการควบคุมจริยธรรม แม้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็เชื่อว่าเป็นกลไกที่สามารถกำกับดูแลได้ ถ้ามีอะไรไม่ถูกต้องก็จะมีกลไกดำเนินการกับสื่อเพื่อให้เป็นไปตามกรอบจริยธรรม และเสียงของประชาชนก็เป็นส่วนผลักดันที่จะคอยกำกับสื่อด้วยเช่นเดียวกัน ขณะที่นายมานิจ สุขสมจิตร หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในฐานะที่เป็นผู้อาวุโสในวงการสื่อมวลชน ให้ความเห็นว่า การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า เราสามารถดำเนินการกันเองได้ แต่อาจจะยังไม่เห็นผลชัดเจน เพราะเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลา ทุกอาชีพก็มีสภาวิชาชีพ ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญที่จะคอยดูว่า สื่อไหนมีการละเมิดจริยธรรม ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ก็จะทำให้สื่อมีกรอบจริยธรรมที่ดี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 17 พฤษภาคม 2560 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/Ms4MZF