“ศาลยุติธรรมเราเริ่มทำงานเชิงรุกด้วยการ 'เอาคนออกจากคุก' ผมส่งท่านรองเมทินี(รองประธานศาลฎีกา) และหัวหน้าผู้พิพากษาหลายคน เข้าไปสัมภาษณ์ผู้ต้องขังในคุกเพื่อหาคำตอบว่า คนเหล่านี้ทำความผิดไม่ร้ายแรงเหตุใดจึงต้องมาติดคุก และเราก็พบว่า บางคนมีสิทธิ์ที่จะประกันตัวออกไปได้ แต่ไม่มีเงินประกันตัว และบางคนพอจะมีเงินประกันตัวอยู่บ้าง แต่ไม่อยากใช้เงินเพื่อการประกันตัว เพราะจะเก็บเงินไว้เพื่อส่งเสียลูกเรียนหนังสือ” นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา กล่าวถึง หนึ่งในนโยบาย 5 ด้าน คือ การยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานผู้ต้องหาและจำเลย คำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม โดยระบุว่า เมื่อผู้พิพากษาได้เข้าไปเห็นปัญหาเอง ก็เกิดโครงการเชิงรุกขึ้นมา ถามผู้ต้องขังที่เรียกกันว่าเป็น “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” เหล่านั้นว่าต้องการประกันตัวหรือไม่ ถ้าต้องการประกันตัวก็สามารถทำได้ด้วยกระบวนการง่ายๆที่ไม่ต้องใช้เงินเป็นหลักประกัน เพียงแต่ยื่นคำร้องขอประกันตัว แล้วกรอกแบบฟอร์มที่ทางศาลได้ออกแบบ “หลักประเมินความเสี่ยง” ซึ่งหากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะหลบหนีน้อย และไม่เป็นอันตรายต่อสาธารณะ จะได้ประกันตัวแน่นอน พร้อมระบุว่า ศาลไทย เป็นประเทศแรกของโลกที่มีกระบวนการเช่นนี้ คือ ศาล เป็นผู้ที่เอาผู้ต้องขังออกจากคุกด้วยตัวเอง กำหนดนโยบายศาลยุติธรรมจากการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ประธานศาลฎีกา ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นซึ่งเป็นที่มาของนโยบายเหล่านี้ โดยระบุถึงช่วงตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งประธานศาลฎีกาใหม่ ได้ใช้แนวคิดที่ได้รับมาจากการไปอบรมหลักสูตรด้านการบริหารต่างๆ คือ การกำหนดนโยบายใดๆก็ตามต้องมาจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้น ดังนั้น เมื่อเข้ารับตำแหน่ง จึงให้คณะทำงานส่งหนังสือไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากการทำงานของศาลยุติธรรม ทั้ง บุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่ คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ รวมไปถึงคู่ความ และประชาชน และยังประกาศไปยังสื่อออนไลน์ขอความคิดเห็น โดยตั้งคำถามว่า “ใน 1 ปี จากนี้ไป อยากให้ศาลยุติธรรมทำอะไรบ้าง” เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาประมวลผลก่อนกำหนดเป็นนโยบายของศาลยุติธรรม เมื่อส่งคำขอข้อมูลออกไป พบว่า มีบุคคลจำนวนมากส่งคำตอบเข้ามา โดยแบ่งเป็นข้อมูลจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมประมาณ 60% และเป็นความเห็นจากประชาชนทั่วไป 40% พบว่า สิ่งแรกที่ต้องการมากที่สุดคือ ขอให้ศาลยุติธรรมพิจารณาเรื่องกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราว และต้องการให้ศาลพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยไม่มีวันหยุดราชการ จึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะ “ความยุติธรรมต้องไม่มีวันหยุดราชการ” จึงเริ่มดำเนินการนโยบายแรกคือ “การพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีวันหยุด” ซึ่งก็ต้องขอบคุณผู้พิพากษาและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่เสียสละเวลามาทำงานในช่วงวันหยุดเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมตามสิทธิที่ควรจะได้รับ แต่ในประเด็น “การพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว” ประธานศาลฎีกา ยอมรับว่า ในแต่ละคดี มีทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหาย ดังนั้นการพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลใด จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหาย และคำนึงถึงความปลอดภัยของสาธารณะด้วย เมื่อมาดูสถิติการปล่อยตัวชั่วคราวทั่วประเทศ นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า มีคำร้องมากกว่าสองแสนคำร้องในแต่ละปี และศาลชั้นต้นได้ดำเนินการอนุญาตปล่อยตัวในแต่ละปีไปกว่า 90% เช่นปี 2562 มีจำนวนคำร้อง 217,903 เรื่อง ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไป 200,713 ส่วนปี 2563 ช่วงต้นปีมีคำร้องแล้ว 56,106 เรื่อง และศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปแล้ว 51,076 แต่ตัวเลขนี้ยังไม่ใช่จำนวนที่พอใจ เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวนคดีอาญาในศาลชั้นต้น พบว่าในหนึ่งปีจะมีถึง 5-6 แสนคดี แต่กลับมีคำร้องมายื่นแค่ 2 แสนกว่าเรื่องเท่านั้นซึ่งหมายความว่า จำเลยอาจจะยังไม่รับรู้ถึงสิทธิที่พึงมีในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนกรณีที่ไม่อนุญาตปล่อย ส่วนใหญ่เป็นเพราะจำเลยมีโทษคดีอื่นติดอยู่ด้วย หรือคดีขายยาบ้าหลักแสนเม็ดทางศาลอาจไม่ให้ประกันออกไป สำหรับข้อมูลการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ ตามแนวคิด “ความยุติธรรมไม่มีวันหยุด” มีสถิติการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการของศาลชั้นต้น ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 มีคำร้องขอปล่อยตัวในช่วงวันหยุด 3,792 เรื่อง ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไป 3,424 เรื่อง ไม่อนุญาตปล่อยตัว 323 เรื่อง และส่งศาลสูงทั้งสิ้น 45 เรื่อง ซึ่งจะเห็นว่า มีคนได้กลับไปอยู่กับครอบครัวก่อนเวลาเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องถูกขังในเรือนจำต่ออีกหนึ่งหรือสองวันในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ศาลฎีกา มีเป้าหมายว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ศาลชั้นต้น 70% จากทั้งหมด 269 ศาล จะดำเนินการตาม “มาตรการเชิงรุก” ได้สำเร็จ และมีเป้าหมายภายในเดือนกันยายนจะทำให้ศาลชั้นต้นทุกแห่งดำเนินการได้ ซึ่งผลจากมาตรการเชิงรุกนี้จะทำให้ผู้ต้องขังระหว่างไต่สวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นมีจำนวนลดลง จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสำรวจ ณ วันที่ 1 เมษายนของทุกปี ตั้งแต่ปี 2560 และ 2561 ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ในส่วนของศาลชั้นต้น จะมีจำนวน 10,173 คน และ 11,087 คน ตามลำดับ ถือว่าค่อนข้างสูง ส่วนในปี 2562 ลดลงมาเหลือ 8,963 คน และการสำรวจ ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 มีตัวเลขอยู่ที่ 9,699 คน ส่วนจำนวนที่ขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา จะเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นตัดสินเรียบร้อยแล้วจึงมีจำนวนสูงและกลุ่มนี้จะเปลี่ยนสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาดต่อไปในอนาคต ซึ่งศาลจะพยายามลดจำนวนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ให้เหลือเพียง 5%ของคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น สำหรับ “นโยบาย 5 ข้อ ของ ประธานศาลฎีกา” ประกอบด้วย 1. ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานผู้ต้องหาและจำเลย คำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม คือ นโยบายด้านสิทธิเสรีภาพที่กล่าวไปแล้ว 2. ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ คือ ทำให้การพิจารณาคดีมีคุณภาพมากขึ้น ให้ผู้พิพากษาให้ความสำคัญกับการอ่านสำนวน ตรวจสอบพยานหลักฐานให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ให้เป็นความยุติธรรมที่ทุกคนต้องการ 3. นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม การพิจารณาพิพากษาคดี และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวกและประหยัดสำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ นโยบายนี้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดพอดี ซึ่งศาลได้นำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในหลายกรณี เช่น การสอบพยาน หรือแม้แต่อ่านคำพิพากษาทาง VDO Conference 4. เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบบริหารงานบุคคล ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างจริยธรรม ระบบอาวุโส และความรู้ความสามารถ ศาลจะเข้มแข็ง ต้องทำให้บุคลากรในศาลได้พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามหลักจริยธรรม นิติธรรม และหลักธรรมภิบาล 5. สนับสนุนบทบาทศาลในการบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อภาระแก่สังคมและประชาชน คือ การสร้างความยุติธรรมให้เป็นสีเขียว นอกจากจะทำให้สถานที่ อาคารต่างๆร่มรื่น ยังมีความหมายว่า ความยุติธรรมต้องบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติ สะท้อนถึงหลัก “นิติธรรม” New Normal ศาลยุติธรรมยุคโควิด-19 “เปิดศาล” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้กฎหมาย ประชาชนเข้าถึงง่าย ตรวจสอบได้ทุกคดี “ที่ผ่านมา ศาลฎีกา ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ลึกลับ เข้าถึงยาก เป็นดินแดนมิคสัญญี ผมจะเปิดให้คนภายนอกเข้าขมการทำงานของศาลฎีกา จะเชิญชวนผู้มีวิชาชีพทางกฎหมาย เชิญชวนนิสิตนักศึกษา นักเรียนเข้ามาดูการทำงานของศาลฎีกา ว่ามีระบบงานทำงานอย่างไร มีระบบการทำคำพิพากษาอย่างไร ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เหล่านี้ไม่ใช่ความลับ มีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทำให้ศาลฎีกาเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักกฎหมาย และประชาชนทั่วไป ... วันเด็ก ทำเนียบรัฐบาลยังเปิดให้เด็กเข้าชมได้ ทำไมศาลยุติธรรมจะเปิดไม่ได้” “ทำให้สาธารณะเข้าถึงศาลได้” ถือเป็นความพยายามที่จะปรับเปลี่ยน “วิธีคิด” ทั้งของบุคลากรศาลและวิธีคิดที่ประชาชนรู้สึกต่อศาล ซึ่งประธานศาลฎีกา เปิดเผยระหว่างการสนทนาพิเศษครั้งนี้ โดยระบุว่า กำลังให้คณะทำงานของสำนักงานศาลยุติธรรม เตรียมการ “เปิดศาลฎีกา” ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน ให้พื้นที่ของศาลเป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์กฎหมายของประเทศไทย ประวัติของศาลฎีกา และสามารถเรียนรู้ได้ว่ากว่าจะเป็นคำตัดสินของศาลในแต่ละคดี มีการทำงานที่ละเอียดรอบคอบ ตรวจสอบความถูกต้องจริงหรือไม่ ซึ่งแนวคิดนี้ มาจากความต้องการให้ “ศาลยุติธรรม” เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง จะช่วยเปลี่ยนความรู้สึกของประชาชนที่เคยมีต่อศาล จากพื้นที่ลึกลับ แตะต้องไม่ได้ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายซึ่งจะนำไปสู่ความไว้ใจศาล และเมื่อศาลฏีกาเปิดได้แล้ว ในขั้นต่อไป ก็เชื่อว่าจะสามารถเปิดศาลอุทธรณ์ได้เช่นกัน ส่วนกระบวนการทำงานต่างๆของศาลที่จะปรับเปลี่ยนไปในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า แนวปฏิบัติในขณะนี้ คือยังต้องลดการมารวมตัวกันที่ศาล ด้วยการอนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่จำเป็นเท่านั้นจึงจะเข้าไปในห้องพิจารณาคดี และยังต้องรักษาระยะห่างตามคำแนะนำของทางสาธารณสุข โดยที่ผ่านมา ได้เลื่อนการพิจารณาคดีไปถึง 1.6 แสนคดี แต่เป็นคดีที่ได้พิจารณาแล้วว่าการเลื่อนออกไป จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และขณะนี้ได้ประเมินว่า ภายในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม ถึง สิงหาคม ศาลน่าจะกลับมาให้บริการได้ตามปกติ จึงมีแนวทางที่จะเร่งพิจารณาคดีที่เลื่อนออกไปทันที โดยจะเพิ่มการทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์ขึ้นมา เพื่อให้กรอบเวลาการพิจารณาคดีต่างๆเป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ คือ คดีที่ศาลชั้นต้น ใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีต่อคดี ส่วนในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ใช้เวลาไม่เกินคดีละ 1 ปี เพราะศาลทราบดีถึงคำวิจารณ์ในอดีตว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม” ส่วนวิธีการอื่นๆที่นำมาใช้แล้วเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินต่อไปได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การสืบพยานโดยใช้ระบบ VDO Conference ซึ่งเคยใช้ในคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศจึงประยุกต์มาใช้กับคดีอื่นๆให้มากขึ้น หรือ การไต่สวนพยานโดยใช้การแยกห้องพิจารณา ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำอยู่แล้วเพื่อให้ความคุ้มครองในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน กระบวนการปล่อยตัวชั่วคราว ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ประธานศาลฎีกา ระบุว่า ได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จากปกติที่ต้องนำตัวจำเลยที่จะถูกปล่อยตัวมาที่ศาล ก็จะปรับเปลี่ยนเป็นการสอบถามจำเลยด้วยระบบ VDO Conference จากที่เรือนจำ เช่นเดียวกับการอ่านคำพิพากษาในกรณีที่จำเลยอยู่ที่เรือนจำอยู่แล้ว ก็สามารถอ่านผ่านระบบ VDO Conference โดยตรง ซึ่งการไม่ต้องนำตัวจำเลยมาที่ศาลยังช่วยลดความเสี่ยงของเขาที่จะต้องออกมาติดเชื้อ และในบางกรณียังช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกชิงตัวหลบหนีด้วย ประธานศาลฎีกา กล่าวสรุปว่า ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของศาลที่กำลังดำเนินการอยู่ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของบุคลากรทั้งหมดของศาลและกระบวนการยุติธรรม โดยมีประเด็นที่เป็นหัวใจคือ “ตราบใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได่ว่าบุคคลใดมีความผิด ต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ เว้นแต่มีแนวโน้มว่าบุคคลนี้จะเป็นอันตรายต่อสาธารณะ” และหากมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องมีแนวทางการลงโทษที่เหมาะสมกับความผิด เป็นทางเลือกอื่นซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการจำคุกเสมอไป ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ จะยังต้องผ่านการทำงานร่วมกันอย่างมากในกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด ซึ่งก็หวังว่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้ศาลได้เป็นที่พึ่งของทุกคนได้อย่างแท้จริง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสสรุปโดยชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนครั้งนี้ของผู้บริหารศาลยุติธรรม เป็นความหวังครั้งสำคัญของประเทศ เพราะเป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกลงไปถึงวิธีคิดผ่านการรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ทั้งผู้ต้องหา จำเลย ผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไป นำไปสู่การทำงานเชิงรุกด้วยการส่งผู้พิพากษาไปสัมผัสปัญหาถึงในเรือนจำ โดยเฉพาะการเริ่มเปลี่ยนแปลงกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่ง “ศาล” ได้สร้างแบบประเมินความเสี่ยงหลบหนีหรือเป็นอันตรายกับสังคมหรือไม่ ขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวผู้ต้องหา แทนการใช้ “เงิน” ซึ่งที่ผ่านมาเห็นแล้วว่า เป็นหลักประกันที่ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างแท้จริง และยังทำให้คนที่ไม่มีเงินไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมด้วย หรือ ความพยายามในการแก้ปัญหาให้กับคนจนที่ถูกกักขังแทนการเสียค่าปรับก็เป็นความพยายามที่ดี จึงเชื่อว่า มาตรการต่างๆเหล่านี้ของศาลจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางฝ่ายวิชาการอย่างแน่นอน ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ยังกล่าวสนับสนุนมาตรการอื่นๆของศาล ทั้งการใช้เทคโนโลยีอย่างกำไล EM มาเป็นเครื่องมือช่วยในการติดตามผู้ต้องหา ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้ศาลและชุมชนได้ โดยที่ผู้กระทำความผิดยังสามารถไปทำงานหาเลี้ยงชีพได้ หรือแม้แต่การสร้างกระบวนการติดตามดูแลกันในชุมชน การไกล่เกลี่ยคดีทางออนไลน์ การอ่านคำพิพากษาผ่านระบบ VDO Conference และที่สำคัญคือ แนวคิดที่จะแก้ปัญหานักโทษคดียาเสพติดซึ่งมีมากที่สุดในเรือนจำ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในเรือนจำ ซึ่งทั้งหมดนี้คงต้องผ่านกระบวนการใรการแก้ไขกฎหมาย สร้างความเข้าใจในชุมชน สร้างระบบติดตามตัวที่น่าเชื่อถือ จึงขอสนับสนุนให้ศาล ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหัวใจที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป ขอบคุณภาพ เพจ-สื่อศาล