จากกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้อง สตง. ให้ตรวจสอบ "โครงการสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์" มูลค่า 418 ล้าน ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตามที่ได้เสนอไปแล้วนั้น ล่าสุด วันนี้ (17 พ.ค.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ชี้แจงว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการดังกล่าว เมื่อกลางเดือนเมษายน 2563 ซึ่งทางกรมทรัพยกรน้ำบาดาลได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีเชิญชวนทั่วไป ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e – bidding) ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่มีผู้วิจารณ์ในขั้นตอนการเผยแพร่ร่างขอบเขตของงานแต่อย่างใด โดยมีผู้ดาวน์โหลดเอกสาร จำนวน 29 ราย และมีผู้ยื่นข้อเสนอ จำนวน 4 ราย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องการส่งตัวอย่างสินค้า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการนำสินค้าเทียบเท่าไปใช้ในโครงการ การกำหนดให้ส่งตัวอย่างภายใน 3 วันทำการถัดจากวันยื่นราคานั้น มีความจำเป็นเพื่อเร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้รับจัดสรรจากงบกลางโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อการเกษตรสำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ซึ่งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 44 วรรค 3 ได้ระบุให้กำหนดส่งตัวอย่างได้เป็นวันใดวันหนึ่งภายใน 5 วันทำการ ซึ่งการจะกำหนดให้ส่งตัวอย่างภายใน 1 วันก็สามารถทำได้ นอกจากนั้น สำหรับการกำหนดครุภัณฑ์ของโครงการฯ ล้วนเป็นครุภัณฑ์ที่สามารถหาได้ในท้องตลาด ซึ่งกรมฯ มิได้มีเจตนากีดกันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ครุภัณฑ์ใดที่ไม่มีในรายการครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็จะใช้วิธีสืบราคา ตามระเบียบกระทรวงระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวอีกว่า โครงการนี้มีเป้าหมายโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งถ้าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2563 เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งนั้น จะต้องกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างเพียง 30 วัน เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ นั้นคาดว่าจะสามารถดำเนินการลงนามในสัญญาได้ประมาณสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ขยายระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 75 วัน เกินเป้าหมายไป 45 วัน ส่วนในเรื่องการดำเนินการทดสอบดินที่ผู้วิจารณ์กล่าวอ้างว่าต้องใช้ระยะเวลากว่า 20 วันก่อนที่จะสร้างหอถังนั้น ซึ่งในการดำเนินการทดสอบดินในข้อเท็จจริงสามารถทำได้ในเวลาเพียง 1 - 2 วันเท่านั้น กว่าจะได้บ่อบาดาลแต่ละแห่งนั้น ประชาชนต้องรวมกลุ่มกันเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณในแต่ละโครงการต้องใช้เวลาหลายปี เพราะฉะนั้นการก่อสร้างบ่อบาดาลจะมีประชาชนมาร่วมตรวจสอบดูแลแต่ละโครงการและทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสเป็นหลัก "กระผมนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพยายามเร่งรัดงานให้รวดเร็วเพื่อให้ทันเวลากับการแก้ปัญหาภัยแล้ง เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีน้ำบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรได้ใช้อย่างทันท่วงที" นายศักดิ์ดา กล่าว