ผู้อพยพหนีภัยการสู้รบในศูนย์พักพิงชายแดนไทย-รัฐฉานวิกฤต กว่า 6 พันชีวิตกำลังขาดแคลนข้าวอย่างหนักหลังปิดพรมแดน วอนร่วมบริจาคด่วน วันที่ 17 พ.ค.63 นางสาวลืนหอม สายฟ้า กรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (ชายแดนไทย) เปิดเผยว่าขณะนี้ได้เปิดรับการบริจาคเร่งด่วนให้แก่ผู้อพยพตามชายแดนรัฐฉาน-ไทย ในช่วงที่มีการปิดพรมแดนตามมาตรการหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เพราะผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน ทำให้ผู้อพยพเกิดความขาดแคลนข้าวสารอย่างหนัก ส่วนหนึ่ง เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากการที่องค์กรระหว่างประเทศ (The Border Consortium) ตัดความช่วยเหลือที่เคยให้ข้าวสารแก่ผู้อพยพไทใหญ่มาตั้งแต่ปลายปี 2560 จึงต้องมีการระดมทุนจากองค์กรชุมชนไทใหญ่ในท้องถิ่นและเอกชน เพื่อช่วยเหลือด้านอาหารให้แก่ผู้อพยพชาวไทใหญ่ที่ไม่สามารถเดินทางกลับถิ่นฐานในรัฐฉาน ประเทศพม่า ได้ เนื่องจากยังมีการขยายพื้นที่ของกองทัพพม่า และยังมีการโจมตีจากกองทัพพม่ามาจนปัจจุบัน นางสาวลืนหอมกล่าวว่า นอกจากนี้มาตรการปิดด่านของประเทศไทยเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้อพยพที่เคยได้รับการผ่อนผันให้เข้ามาทำงานรับจ้างตามฤดูกาลผ่านตามด่านพรมแดนต่างๆ ไม่สามารถเดินทางข้ามมารับจ้างได้ เช่น ผู้อพยพจากศูนย์พักพิงดอยก่อวัน ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่เคยเข้ามารับจ้างเก็บชา เฉลี่ยเดือนละ 10 วัน ค่าแรงเฉลี่ยรวมเดือนละ 1,400 บาท แต่ทุกวันนนี้ขาดรายได้ที่จะนำมาเลี้ยงครอบครัวโดยสิ้นเชิง “ประชากรผู้อพยพจากรัฐฉาน ในศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้ง 6 แห่ง ตลอดพรมแดนที่ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสนอ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย รวมทั้งสิ้น 6,101 คน มีปริมาณข้าวสารที่จำเป็นเร่งด่วนใน 6 เดือน จำนวน 13,028 กระสอบ ซึ่งจนบัดนี้คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน จัดหาได้เพียง 870 กระสอบเท่านั้น ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวทุกแห่ง รอบๆ ค่ายมีกองทัพว้าเข้ามาสร้างฐานประชิด และยึดพื้นที่ทำกินเดิมของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถออกไปปลูกผัก ทำสวนได้ เนื่องจากกลัวทหารว้า ความปลอดภัยไม่มี ผลผลิตก็ไม่มี” นางสาวหอม กล่าว ทั้งนี้ผู้อพยพจากรัฐฉานที่อาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทย-พม่า ส่วนใหญ่หนีภัยความตายจากการสู้รบของกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์มายังพรมแดนไทย ตั้งแต่กว่า 20 ปีก่อนและจนปัจจุบันยังไม่สามารถหวนคืนสู่บ้านเกิดได้เพราะยังคงมีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง