ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เสรีภาพหรือสุขภาพ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,259 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอให้ยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) และ การให้ความสำคัญระหว่างเสรีภาพกับสุขภาพ ดังนี้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนกับข้อเสนอให้ยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) พบว่า ร้อยละ 35.98 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 ดีขึ้นเยอะเเล้ว อยากให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะได้เดินทางสะดวก และผู้ประกอบการสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 คลี่คลายลงแล้ว อยากให้มีการผ่อนปรน ในการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ร้อยละ 15.17 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 รอบ 2 ขึ้น และอยากให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ ร้อยละ 25.74 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ อยากให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ปลอดภัย 100% ก่อน และเกรงว่าจะกลับมาเเพร่ระบาดรอบ 2 และร้อยละ 1.35 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ ด้าน ความคิดเห็นของประชาชนกับข้อเสนอให้ยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว (4 ทุ่ม ถึง ตี 4) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.22 ระบุว่า เห็นควรให้มีเคอร์ฟิวตามเวลาเดิม เพราะ อยากให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 หมดไป 100% ก่อน และลดการมั่วสุม ชุมนุม ที่จะก่อให้เกิดการเเพร่ระบาดรอบ 2 รองลงมา ร้อยละ 33.68 ระบุว่า เห็นควรยกเลิกเคอร์ฟิวไปเลย เพราะ ไม่สะดวกในการเดินทางเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ที่ทำงานตอนกลางคืนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 ดีขึ้นเเล้ว ร้อยละ 23.99 ระบุว่า เห็นควรให้มีการปรับเวลาเคอร์ฟิวใหม่ เพราะ อยากให้ปรับเปลี่ยนเวลาให้ดึกมากกว่านี้ ประชาชนบางส่วนยังต้องทำงานอยู่ และจะได้สะดวกในการเดินทางมากขึ้น และร้อยละ 1.11 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ