มกอช. ปรับรูปแบบส่งทุเรียนตรวจหาสารตกค้างทางไปรษณีย์ สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค พร้อมส่งเสริมเกษตรกรแปลงใหญ่ จำหน่ายทุเรียนผ่านระบบออนไลน์ ช่วงยุควิกฤติ COVID-19 เน้นคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีเนื้อสัมผัสตามที่ผู้บริโภคต้องการ สามารถแสกน QR trace ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้ นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ภาคตะวันออกให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) ปี 2563 เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดตราด มีความรู้ความเข้าใจในหลักการปลูกทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) สามารถผลิตทุเรียนคุณภาพ มีความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค รวมถึงสามารถขายผลผลิตทุเรียนให้กับห้างโมเดิร์นเทรด และโรงงานผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560) สำหรับในปี 2563 มกอช. ได้ขยายโครงการฯ ในพื้นที่4 ตำบล 2 อำเภอ ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลชำราก ตำบลวังกระแจะ ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด และตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 134 ราย ยื่นสมัครขอการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ. 9001-2556) กับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร และได้รับการตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre-audit) กับ มกอช. จำนวน 120 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างให้การรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ มกอช. ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคกับสินค้าทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน จึงดำเนินการตรวจหาสารตกค้างในทุเรียนผลสด สำหรับเกษตรกรแปลงใหญ่ที่ได้รับการรับรอง GAP เพื่อยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัยให้กับผลผลิตทุเรียนแปลงใหญ่ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งไม่สามารถออกไปเก็บตัวอย่างได้ จึงดำเนินการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยใช้เทคโนโลยี คือ วิดิโอคอล เพื่อชี้เป้าเกษตรกรเก็บทุเรียนลูกที่เราต้องการ และจัดส่งทางไปรษณีย์ เพื่อนำส่งตัวอย่างทุเรียนให้กับบริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด นำไปทำการตรวจสอบหาสารตกค้าง นอกจากนี้ มกอช. ได้ส่งเสริมการจำหน่ายทุเรียนแปลงใหญ่ ซึ่งได้แนะนำวิธีการขนส่งที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ที่มีความสนใจจำหน่ายสินค้าทุเรียนผ่านทางออนไลน์ ทำให้สินค้าทุเรียนยังคงมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีเนื้อสัมผัสตามที่ผู้บริโภคต้องการ โดยเพิ่มรายละเอียดในสติ๊กเกอร์สำหรับแสดงเครื่องหมาย Q ให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงวันที่ควรบริโภคในแต่ละเนื้อสัมผัสที่ต้องการ เช่น กรอบนอกนุ่มใน นิ่มนอกนิ่มใน และนิ่มมาก รวมถึงขยายทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนผ่านระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGT Farm.com และให้ผู้บริโภคสามารถตามสอบแหล่งที่มาของผลผลิตทุเรียนได้ โดยการสแกนคิวอาร์โค้ด ระบบตามสอบสอนค้าเกษตรและอาหาร (QR trace) “อยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกร หากผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค นอกจากผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่ดี มีความปลอดภัย ตัวเกษตรกรเองก็จะปลอดภัยจากสารตกค้างอีกด้วย อย่างไรก็ตามถ้าคิดถึงความปลอดภัย ให้ดูเครื่องหมาย Q ซึ่งมั่นใจได้ว่า ทุเรียน หรือสินค้าเกษตรอื่นๆ เราได้กำกับดูแลให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค”รองเลขาธิการ มกอช.กล่าว