จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อเกี่ยวกับหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งเข้ารับบริการเสริมจมูก กับคลินิกแห่งหนึ่ง ในย่านวิภาวดี เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาและได้รับผลกระทบจากการเสริมความงามจนจมูกผิดรูป โดยหญิงสาวรายดังกล่าว เปิดเผยว่าคลินิกได้มีการนัดหมายคืนเงินและเซ็นสัญญาว่าจะไม่เอาผิดกับคลินิกนั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรม สบส.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ คลินิกดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ภายในซอยวิภาวดีรังสิต 3 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยจากการตรวจสอบพบว่าคลินิกดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้จึงได้ตรวจสอบในประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสถานพยาบาล ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่พบการกระทำผิดมาตรฐานในด้านสถานที่ แต่พบการกระทำผิดในประเด็นของการโฆษณาสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะมีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการตามกฎหมาย และสอบสวนต่อในประเด็นของผู้ให้บริการว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ หากพบว่ามีการใช้บุคคลอื่นที่มิใช่แพทย์มาให้บริการแล้ว นอกจากตัวหมอเถื่อนรายดังกล่าวจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 แล้ว ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งกรม สบส.อาจจะมีคำสั่งปิดคลินิกเป็นการชั่วคราวหรือถาวรอีกด้วย นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการฝ่าล็อกดาวน์ลักลอบให้บริการเสริมความงามของคลินิกนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จะรวบรวมพยานหลักฐาน ส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งในช่วงวันที่ 6 เม.ย.ที่ผู้เสียหายเข้ารับบริการ รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีข้อกำหนดให้คลินิกเวชกรรมเสริมความงามปิดดำเนินการเป็นการชั่วคราว การฝ่าฝืนข้อกำหนดแอบลักลอบให้บริการเสริมความงามของคลินิก นอกจากจะเป็นการสร้างความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายแล้ว ยังถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 4) ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ