ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย นัดหมายออนไลน์ ส่งยาถึงบ้าน ลดการมาโรงพยาบาล ลดแออัด จัดกลุ่มผู้ป่วย และจัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มผู้ป่วย โดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 15 พ.ค.2563 กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการปรับระบบดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal of medical Service) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าได้มีการปรับแนวทางการทำงานบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ การเพิ่มระยะห่าง ลดความแออัดที่โรงพยาบาล มีการจัดกลุ่มผู้ป่วยและจัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม โดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึง และยกระดับคุณภาพบริการ ระบบการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมของประเทศ โดยจะแบ่งกลุ่มประเภทผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ดูแลตนเองได้ดี ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ไม่ต้องมาโรงพยาบาล ใช้การจัดส่งยาให้ต่อเนื่อง กลุ่มที่ต้องการปรึกษาแพทย์ด้วยคำถามหรือปัญหาเล็กน้อยบางอย่างโดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ให้บริการ Tele -medicine โดยผ่านระบบการสื่อสาร และกลุ่มสุดท้ายที่มีความจำเป็นต้องมาพบแพทย์โรงพยาบาลจริง รวมทั้งพัฒนา Digital Solution เป็นเครื่องมือให้แพทย์และคนไข้สามารถติดต่อพูดคุยและปรึกษากัน โดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล และใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้อำนวยความสะดวกในการบริการด้วย ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เกิดการพัฒนาและปรับระบบบริการทางการแพทย์ใหม่ (New Normal Medical Services) คือ มีระบบการแบ่งกลุ่มและจัดบริการตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ตามระดับความรุนแรง ความซับซ้อน ความเร็วของการดำเนินโรค, การจัดระบบสนับสนุนการดูแลตนเอง อาทิ ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ความรอบรู้ด้านสุขภาพ แอปพลิเคชันและสื่อ ระบบติดตามรายบุคคล, ระบบข้อมูลด้านสุขภาพ ฐานข้อมูลผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ ระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกัน, ระบบบริการที่เข้าถึงง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้นด้วยระบบ IT ลงทะเบียน/ นัดหมายล่วงหน้าทางออนไลน์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบ drive thru การรับยาร้านยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์ การปรึกษาทางไกล, ระบบการบริหารจัดการเตียงร่วมกันระหว่างหน่วยบริการ, ยกระดับความปลอดภัยด้านการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล ทั้งการจัดสถานที่ อุปกรณ์ป้องกัน ระบบบริการ และความรู้บุคลากร