ECF โชว์ผลประกอบการ Q1/63 กวาดรายได้รวม 296.39 ล้านบาท กำไรสุทธิ 17.11 ล้านบาท เติบโต 1.06 % จากกลยุทธ์บริหารต้นทุนการขายและการบริหาร พร้อมรับรู้กำไรจากธุรกิจพลังงาน โรงไฟฟ้า ดันมาร์จิ้นเพิ่ม ท่ามกลางวิกฤต ปรับแผนรับมือโควิด-19 กระทบระยะสั้น ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ตลาดในประเทศ ลุยขยายช่องทางจำหน่ายออนไลน์ เพิ่มยอดขาย ตลาดต่างประเทศยังเติบโต เจรจาลูกค้าใหม่ย้ายฐานการผลิต นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) เปิดเผยถึง แผนการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ตลาดในประเทศได้รับผลกระทบจากกลุ่มลูกค้า Hypermarket ที่ต้องปิดสาขาชั่วคราว โดยบริษัทได้ปรับกลยุทธ์เพิ่มจำนวนสินค้าเพื่อเสนอขายผ่านช่องทางออนไลน์ www.elegathai.com และร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ให้มากขึ้นจากเดิม ซึ่งช่วงที่ผ่านมาแนวโน้ม ยอดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมพัฒนารูปแบบสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานให้มากขึ้น สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ขณะที่ตลาดต่างประเทศยังสามารถเติบโตได้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในประเทศญี่ปุ่น มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหม่ที่เริ่มสั่งซื้อกับบริษัทมีการหยุดชะงักชั่วคราว เนื่องจากการปิดประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดว่าหากอินเดียเริ่มเปิดประเทศได้อีกครั้ง โอกาสในการสั่งซื้อสินค้าก็จะเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทนมีแนวโน้มดี เนื่องจากเริ่มรับรู้รายได้ในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยในปีนี้ คาดว่าจะเห็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรมากขึ้น สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/63 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 296.39 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 359.44 จำนวน 63.05 ล้านบาท หรือลดลง 17.54 % อย่างไรก็ตามบริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตกำไร โดยมีกำไรสุทธิ 17.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 16.93 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลประกอบการของบริษัท ยังสามารถสร้างการเติบโตของกำไรสุทธิ ท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและกำไรจากรายได้อื่นๆ ประกอบกับการวางแผนงานเพื่อบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามในส่วนของรายได้รวมปรับตัวลดลงเนื่องจากลูกค้าในต่างประเทศที่รัฐบาลมีคำสั่งล็อคดาวน์ ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ สำหรับภายในประเทศ เกิดจากกลุ่มร้านค้าประเภท Hypermarket อาทิ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี โฮมโปร ฯลฯ ที่เป็นลูกค้าของบริษัทจำเป็นจะต้องปิดการขายผ่านสาขาตามคำสั่งของรัฐบาล