ดนตรี / รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล ตอนที่ จอห์น เลนนอน ถูกถามถึงเรื่องรสนิยมทางดนตรีของเขาในการสัมภาษณ์นิตยสาร โรลลิง สโตน เมื่อปี 1970 เขาตอบง่ายๆว่า “A-wop bop-a-loo-bop” วลีสั้นๆที่ติดหูและติดปากคนฟังเพลงจากเพลง “Tutti Frutti” ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินมากมาย ลิทเทิล ริชาร์ด ใส่อารมณ์เต็มที่ตอนตะโกนร้องท่อนเปิด “A-wop bop-a-loo-bop” ใน “Tutti Frutti” เพลงเปิดตัวสู่โลกดนตรีเมื่อปี 1955 และหลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นปรากฏการณ์ เกิดและเติบโตในครอบครัวที่มีพี่น้อง 12 คนที่เมืองมาคอน รัฐจอร์เจีย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 1932 ชื่อเดิมคือ ริชาร์ด เวย์น เพนนิแมน “ผมเกิดในสลัม พ่อขายเหล้า เหล้าเถื่อนน่ะ” เขาร้องเพลงในโบสถ์มาตั้งแต่เด็กเพราะลุงๆ อาๆ เป็นนักเทศน์ แต่พ่อก็ไม่เคยสนับสนุนแถมไล่เขาออกจากบ้านตอนอายุ 13 เพราะเขาเป็นเกย์ และอีกสองปีต่อมา เขาก็เปลี่ยนชื่อเป็น ลิทเทิล ริชาร์ด หลังจากแสดงที่คลับ ทิคท็อค ในมาคอนและชนะประกวดร้องเพลง เขาก็ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินบันทึกเสียงครั้งแรกกับ อาร์ซีเอ ในปี 1951 เขานำเอาการเล่นเปียโนแบบพิเศษของ เอสคิวริตา (นักร้อง-นักเปียโนชาวเซาท์แคโรไลนา ไม่เพียงการเล่นดนตรี เขายังทำผมทรงปอมปาดัวร์แบบเดียวกับ เอสคิวริตา เช่นกัน) เพลงที่ปล่อยออกมาช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีเพลงติดชาร์ตเลยแม้แต่เพลงเดียว ความล้มเหลวช่วงต้น ทำให้ ริชาร์ด ต้องไปทำงานล้างจนที่สถานีรถบัส เกรย์ฮาวน์ด ตอนนั้นเขาอายุ 22 แล้ว และต้องหาเลี้ยงครอบครัวหลังจากที่พ่อเขาตาย ที่นั่นเองที่เขาแต่งเพลงฮิทเพลงแรกของเขา “ผมล้างจานอยู่ที่นั่น” เขาให้สัมภาษณ์ โรลลิง สโตน ไว้ครั้งหนึ่ง “มีผู้จัดการที่คอยแต่เอาถ้วยชามมาให้ผมล้างตลอดทั้งวัน จนกระทั่งวันหนึ่งผมคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่างที่ทำให้ผู้ชายคนนี้หยุดเอาของมาให้ผมล้างเสียที แล้วผมก็เลยพูดว่า ‘A-wop bop-a-loo-bop, a-lop bam boom, take ‘em out!’ และนั่นเป็นความรู้สึกผมตอนนั้นจริงๆนะ ผมแต่งเพลง ‘Tutti Frutti’ ในครัวนั่นแหละ” เขาส่งเทปเพลง ‘Tutti Frutti’ ที่ทำหยาบๆไปให้ สเปเชียลตี เรคคอร์ดส์ ในชิคาโก นับเป็นโชคดีของเขาที่ตอนนั้น อาร์ท รูพ เจ้าของค่ายกำลังมองหานักร้องมาร้องเพลงที่เขากำลังจะทำพอดี เขาจึงได้บันทึกเสียงเพลงนี้ที่ เจแอนด์เอ็ม สตูดิโอ โดยมี บั๊มพ์ แบล็คเวลล์ เป็นโปรดิวเซอร์ และทีมนักดนตรีฝีมือจัดอย่าง เอิร์ล พาลเมอร์ (กลอง), แฟรงค์ ฟีลด์ส (เบสส์) และ ลี อัลเลน (แซ็กโซโฟน) ในที่สุด “Tutti Frutti” เวอร์ชั่นไร้คำหยาบก็ถูกปล่อยออกมาเป็นซิงเกิ้ลในเดือนกันยายน 1955 ติดอันดับ 17 บนอันดับเพลงป๊อป “ Tutti Frutti เป็นเพลงแรกๆที่หลอมละลายพรมแดนผิวสีจริงๆ ดนตรีของผมได้การยอมรับจากคนขาวแล้ว” เขาบอก “ตอนที่ผมเข้าวงการครั้งแรก ผมไม่เคยได้ยินเพลงร็อค แอนด์ โรลล์ แต่อันที่จริง ผมร้องเพลงร็อก แอนด์ โรลล์มานานแล้วก่อนจะร้องจริงๆในที่สาธารณะ เพราะผมกลัวคนฟังจะไม่ชอบ ผมไม่เคยได้ยินใครร้องแบบนั้น ผมถึงได้กลัว” เพลงนี้ส่งให้ ลิทเทิล ริชาร์ด กลายเป็นดาวเด่นเพียงชั่วข้ามคืน จากนั้นเขาก็มีเพลงฮิทตามมาอย่าง “Long Tall Sally”, “Rip It Up”, “Lucille” และ “Good Golly Miss Molly” แต่ในขณะที่อาชีพการงานกำลังรุ่งโรจน์ เขากลับหันหลังให้วงการเพลง ไปศึกษาต่อเรื่องศาสนาที่อลาบามาแล้วกลายเป็นนักเทศน์-เหมือนกับปู่ ออกอัลบั้มกอสเพลมาชุดหนึ่งแต่ล้มเหลว ลิทเทิล ริชาร์ด กลับสู่โลกที่เขาคุ้นเคยอีกครั้งหลังจากนั้นไม่นาน และแฟนเพลงก็อ้าแขนต้อนรับอบอุ่น การแสดงของเขาได้เสียงตอบรับดีเยี่ยมในหลายสิบปีต่อมา แม้จะไม่มีเพลงติดท็อป 10 อีกเลยนับตั้งแต่ปี 1958 แต่อิทธิพลของ ลิทเทิล ริชาร์ด นั้นยิ่งใหญ่ เพลงของเขาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างดนตรีร็อก แอนด์ โรลล์ยุคต่อมา ศิลปินชื่อดังนำเพลงของเขาไปบันทึกเสียงใหม่ ตั้งแต่ เดอะ บีเทิลส์, ดิ เอเวอร์ลีย์ บราเธอร์ส, เดอะ คิงค์ส, ครีเดนซ์ เคลียร์วอเทอร์ รีไววัล ไปจนถึง เอสวิส คอสเทลโล และ สคอร์เปียนส์ ฯลฯ จิตวิญญาณแบบร็อก แอนด์ โรลล์ของเขาไม่มีใครเหมือน เขาขบถ เขากราดเกรี้ยว เขาหมกมุ่นในเรื่องเพศเกินปกติ การเล่นเปียโนและการร้องของเขาเต็มไปด้วยสีสันฉูดฉาด เขากรีดตาด้วยมาสคารา และทำผมทรงปอมปาดัวร์สูง 6 นิ้ว แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็คือตัวตนที่แท้จริงของ ลิทเทิล ริชาร์ด และเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ตาม...ไม่สามารถเลียนแบบได้เหมือน