วช. เผยอีกบทบาทช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 จัดตู้ “ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19” …หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมีใส่ตู้แบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า วช.มีบทบาทหน้าที่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 หลายประการ โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดของรัฐบาล (ศบค.) มีโครงสร้างที่มีหน่วยปฏิบัติการเฉพาะด้าน ในการดำเนินงาน ควบคุมและบริหารสถานการณ์โควิด รัฐบาลให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะนวัตกรรมทางการแพทย์ ศบค.จึงจัดให้มี ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ วช. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน องค์ความรู้ต่างๆ ในด้านการวิจัย การพัฒนาและนวัตกรรม เพื่อประกอบกับข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วจากแหล่งต่างๆ เชื่อถือได้ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบาย ทั้งนี้ วช.ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนนักวิจัยและประชาชนอย่างเต็มที่ โดยจะขับเคลื่อนให้มีการวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแพทย์ หน้ากากอนามัย ชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพสูง วิจัยด้านยาและวัคซีน โดยประยุกต์หน่วยงานต่างๆ ให้ขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน บุคลากร พนักงาน เจ้าหน้าที่ของวช.ในฐานะที่เป็นคนไทยยังได้มีส่วนร่วม ทำงานเป็นจิตอาสาต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภาวะจากโรคโควิด-19 ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และในช่วงที่ผ่านมาวช.ได้มีกิจกรรมหลายอย่าง และเจ้าหน้าที่วช.ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้ง “ตู้ปันสุข” ที่ช่วยทำให้พวกเราทุกคนได้มีส่วนร่วมได้นำของที่มีอยู่เพื่อบริจาคหรือช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภาวะในสถานการณ์โควิดนี้ "สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศขณะนี้ถือว่า ควบคุมได้ แต่ในต่างประเทศยังมีหลายพื้นที่ที่ยังควบคุมการติดเชื้อไม่ได้ เราจึงต้องทำ 2 อย่างควบคู่กันไป ต่อเนื่องและสอดคล้องกันคือ ดูแลให้การติดเชื้อในประเทศอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อรายใหม่เข้ามาจากต่างประเทศ"ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าว สำหรับแนวทางปฏิบัติตนของประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 นั้น เราต้องทำ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ขณะเดียวกันเราต้องสามารถที่จะผ่อนปรนผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ประชาชนสามารถที่จะดำรงชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ประชาชนจะต้องมีองค์ประกอบ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ อนามัยส่วนบุคคล จำเป็นจะต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และอย่างสอง ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมในจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงหรือไปอยู่ในที่มีคนอยู่คับคั่ง เป็นต้น