องคมนตรี ประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และร่วมพิจารณา การปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในภาวะวิกฤติภัยแล้ง ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมด้วยนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมเทวกุล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งเป็นการประชุมติดตามความก้าวหน้าดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างอัตรากำลังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร การปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ความก้าวหน้าโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามตำราฝนหลวงพระราชทาน รวมทั้งพิจารณาการปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในภาวะวิกฤติภัยแล้ง ประจำปี 2563 โดยตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการฝนหลวง วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยฯ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี ราชบุรี ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี ในความดูแลของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 7 ศูนย์ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และ จ.พิษณุโลก ดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ที่ จ.นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และจ.บุรีรัมย์ ดูแลภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ที่ จ.ระยอง และภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อวางแผนและขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุน บรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ และยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติการฝนหลวง ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ -12 พฤษภาคม 2563 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 88 วัน 1,928 เที่ยวบิน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97.73 และจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 65 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 150.94 ล้านไร่ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 91 แห่ง เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 30 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 61 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำต้นทุนที่สามารถเติมได้ รวม 204.829 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ ยังมีการปฏิบัติภารกิจเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ป่าพรุครวนเคร็ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาความเค็มทะเลสาบสงขลา บรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บให้แก่ จ.เชียงใหม่ แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ พิจิตร ตาก เลย นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สกลนคร กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุดรธานี ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงปัญหาหมอกควันและไฟป่า จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน กำแพงเพชร ตาก ตลอดจนการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในการปฏิบัติภารกิจตักน้ำดับไฟป่า บริเวณพื้นที่ อ.สะเมิง อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ และภารกิจส่งถุงน้ำ (Big Bag) ให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า บริเวณพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อนำน้ำไปปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าด้วย สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงาน ด้านการปรับโครงสร้างอัตรากำลังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขณะนี้ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) มีมติเห็นชอบในการขอรับการจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการตั้งใหม่ให้กรมฝนหลวงฯ จำนวน 44 อัตรา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 63 โดยอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งในวันเดียวกันนั้น คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) มีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเพิ่มใหม่ให้กรมฝนหลวงฯ รวม 38 อัตรา โดยจัดสรรเป็นกลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวน 6 อัตรา กลุ่มงานเทคนิคพิเศษ จำนวน 16 อัตรา กลุ่มงานเทคนิคทั่วไป จำนวน 16 อัตรา ด้านความก้าวหน้าการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบัน กองทัพอากาศอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเบื้องต้นจะดำเนินการปรับปรุงเฉพาะในส่วนที่เป็นทางวิ่ง (Runway) ก่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2563 โดยกองทัพอากาศจะมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทัพเรือ และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทราบถึงแผนการดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ในลำดับต่อไป ด้านโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ภายในท่าอากาศยานหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคนิคกรรมวิธีที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปรสภาพอากาศ การควบคุมคุณภาพการดัดแปรสภาพอากาศ ตลอดจนการกำกับดูแลมาตรฐานการปฏิบัติการฝนหลวง โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุ 50 ไร่ บริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศ และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรม โดยกำหนดให้แล้วเสร็จทันขอตั้งงบประมาณปี 2565 อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ มีการเตรียมปรับแผนปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ ประจำปี 2563 เพื่อเตรียมรับมือภาวะวิกฤติภัยแล้ง โดยตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป กรมฝนหลวงฯ จะดำเนินการการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเติมเป็น จำนวน 12 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี อุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์ นครราชสีมา ระยอง ชุมพร สุราษฏร์ธานี และสงขลา ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 21 ลำ ได้แก่ ชนิด CN 1 ลำ CASA 9 ลำ CARAVAN 9 ลำ Super King Air 2 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 5 ลำ ได้แก่ BT 3 ลำ และ AU 2 ลำ โดยเปิดฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 4 ฐาน ที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ และบุรีรัมย์ ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงตามตำราฝนหลวงพระราชทาน เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และสามารถคลี่คลายปัญหาภัยแล้งแก่พี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาทั่วทุกพื้นที่ของประเทศต่อไป