คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” การใช้แรงงานคนขุดจากจอบและเสียมที่ต้องทนร้อนสู้แดดสู้ลม ขุดหลุมเพื่อการเพาะปลูกทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้สูงอายุ จึงอาจทำให้มีผลต่อการทำงานต่อวันไม่มากต่อความต้องการ และยิ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงนำมาสู่การคิดออกแบบและผลิตชุดต้นแบบเครื่องขุดดินบังคับวิทยุ ไอเดียของ นายประดิษฐ์ รักงาม และนายปัญญวัฒน์ นิเวศรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร แซมสีม่วง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ประดิษฐ์ เจ้าของไอเดียอย่าง นายประดิษฐ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ได้ออกแบบและสร้างเครื่องต้นแบบขุดดินบังคับวิทยุ รวมถึงการทดสอบและประเมินสมรรถนะของเครื่อง ให้สามารถลดแรงงานคนและลดระยะเวลาการขุดดินในการทำการเกษตร ซึ่งเครื่องต้นแบบดังกล่าวประกอบด้วยสว่านขุดดินและมอเตอร์เป็นระบบส่งกำลัง โดยใช้ไฟจากแบตเตอรี่ โครงสร้างและชุดประกอบที่คิดค้นมีทั้งหมด 9 ส่วนหลักด้วยกัน คือ เครื่องยนต์ขนาดเล็ก แผงโซล่าเซลล์ สว่านและใบสว่าน มอเตอร์ขับเคลื่อน เหล็กเพลา เฟืองดอกจอก ล้อยาง และโครงรถขุดหลุม และจุดเด่นของเครื่องขุดดินบังคับวิทยุต้นแบบนี้ สามารถใช้ในระดับครัวเรือนจนถึงในเชิงอุตสาหกรรม จากการทดสอบพบว่าสามารถขุดได้มากถึง 1,000 หลุมต่อวัน ขนาดหลุมกว้าง 8 นิ้ว และลึก 12 นิ้ว และใช้ระยะเวลาในการขุดประมาณ 3-4 นาทีต่อหลุม ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ปัญญวัฒน์ ด้าน นายปัญญวัฒน์ อธิบายเสริมว่า วิธีการใช้งานถูกออกแบบมาให้มีความง่าย เริ่มต้นตั้งแต่เปิดเครื่องและระบบควบคุม บังคับเครื่องให้เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ขุดเพาะปลูก ควบคุมเครื่องให้เครื่องหมุนได้รอบเพื่อการทำงาน จากนั้นชุดใบสว่านจะเคลื่อนที่ลงมาเพื่อการขุด รศ.ดร.เกรียงไกร เมื่อได้หลุมตามต้องการแล้วต้องควบคุมเครื่องให้ใบสว่านยกตัวขึ้น ก็จะได้หลุมสำหรับการเพาะปลูกต่อไป และเครื่องต้นแบบขุดดินบังคับวิทยุยังมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือทุกส่วนประกอบเข้ากันในลักษณะน็อคดาวน์ ซึ่งสามารถถอดประกอบแยกส่วนเพื่อการใช้งานตามเดิมได้ สำหรับราคาเครื่องดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ด้วยความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสร้างชุดต้นแบบ วิเคราะห์โครงสร้าง ขึ้นรูปและประเมินสมรรถะของเครื่อง รวมถึงการทดสอบระยะต่างๆ จนสามารถเกิดเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์แรงงานเกษตรกร อนาคตหากได้รับการพัฒนาต่อ น่าจะเป็นในเรื่องของการออกแบบให้สามารถเลี้ยวและหมุนกลับได้ เพื่อความสมบูรณ์ในการใช้งานที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ผู้สนใจสามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ โทร.089 641-7532 ( รศ.ดร.เกรียงไกร แซมสีม่วง)