วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.00 น. นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ พี่น้องประชาชน และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมในโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านยางกลาง ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง โดยมี นายวีระชัย นาคมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ ปลัดจังหวัด นายวรัตม์ มาประณีต นายอำเภอแสวงหา นายเอก อุ่นจิตต์วรรธนะ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง นางกฤติยา ทรัพยะโตษก ประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง นายธนณัฐ อาจิณกิจ จ่าจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดอ่างทองที่เกี่ยวข้อง ณ ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หมู่ที่ 3 บ้านยางกลาง ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้กล่าวกับพี่น้องประชาชนที่ต้องหยุดการทำงานกับนายจ้างและเดินทางกลับภูมิลำเนาในจังหวัดต่างๆ ได้มีงานทำและมีรายได้จากการจ้างงานในพื้นที่ในระหว่างหยุดงาน ว่า โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่จำนวนมาก สามารถที่จะพัฒนาให้เกิดการจ้างงาน สร้างและขยายผลการเรียนรู้ไปประกอบอาชีพและสร้างรายได้ในที่ดินของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่มีที่ดินและเป็นครอบครัวเกษตรกรอยู่แล้ว จึงอยากให้พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆที่ทางโครงการได้ฝึกอบรมทั้งหมดที่หน่วยงานต่างๆได้เข้ามาสอนเพื่อนำความรู้ที่ได้มาไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืนและสามารถสร้างอาชีพให้ครอบครัวตนเองในผืนดินของตนเองได้อย่างถูกหลักวิธีบริหารจัดการ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองยังได้มอบหน้ากากผ้าให้กับพี่น้องประชาชนไว้ใช้ประโยชน์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 อีกด้วย จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการสร้างพื้นที่สวนผสมผสานในการทำการเกษตร ของโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งกำลังขุดสระน้ำและทำการปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อเป็นจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นแบบผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ ซึ่งหลักทฤษฎีใหม่ พระองค์ทรงพระราชทานสูตรให้ว่า 30 30 30 และ 10 (ที่ดินเพาะปลูก , แหล่งน้ำ , นา และที่อยู่อาศัย) ซึ่งในการทำการเกษตรตามแนวทาง จะเริ่มต้นด้วยการขุดหนองน้ำก่อน ตามหลักให้สูตรไว้ว่า 30 % ของพื้นที่ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่ม ก็ลดขนาดลงมาได้ หรือถ้าเป็นพื้นที่ดอน ก็สามารถเพิ่มขนาดได้เช่นกัน โดยให้พิจารณาจากสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ยึดหลักการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ ในการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะบุคลากรในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาพื้นที่ของตนเองจนกลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป