พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสปท.รับทราบรายงานผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เมื่อวันที่ 15พ.ค.ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ สปท.จะส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่กมธ.ได้ปรับปรุงแก้ไขไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เพราะก่อนหน้านี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากครม.แล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณา ส่วนข้อท้วงติงเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนนั้น ไม่ต้องห่วง ประชาชนยังมีสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเช่นเดิม ในกรณีที่จะเกิดการสั่งปิดเว็ปหรือระงับการเผยแพร่ข้อมูล ต้องได้รับการอนุญาตจากศาลก่อน การแสดงความเห็นทางโลกออนไลน์ยังทำได้เช่นเคย แต่ต้องไม่ใช่ข้อความเฮดสปีช สร้างความแตกแยก เกลียดชัง หรือกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงประเทศ หากไปโพสต์ข้อความเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์(กปช.)จะพิจารณาว่า เข้าข่ายการทำผิดตามกฎหมายฉบับดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งกปช.ต้องเรียกผู้กระทำผิดมาสอบถามข้อมูล และพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนมีมติออกมา หากเจ้าหน้าที่ดำเนินการเกินกว่าเหตุจะมีความผิดเช่นกัน แจงให้อำนาจล้วงตับข้อมูลเอกชน พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า ส่วนการให้อำนาจกปช.สามารถเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของเอกชนได้ด้วย นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐนั้น เนื่องจากการใช้กฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องใช้บังคับกับทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน เพราะการโจมตีทางคอมพิวเตอร์ไม่เลือกว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือเอกชน เหมือนกระแสน้ำ ถ้าน้ำท่วมก็ท่วมหมดไม่เลือกว่า บ้านคนรวยหรือคนจน ดังนั้นจึงต้องออกกฎหมายควบคุมบังคับใช้ให้เหมือนกันทั้งหมด เราต้องเตรียมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ เพราะเชื่อว่า มันมาแน่ ยังไงก็ต้องเจอ จึงจำเป็นต้องออกกติกาคอยควบคุมไว้ -ส่งร่างกม.ควบคุมสื่อให้สปท.16พ.ค. พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อส่งให้ครม.พิจารณาต่อไปว่า ในวันที่ 16พ.ย. กมธ.จะประชุมนัดสุดท้าย เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ก่อนส่งให้ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. เพื่อส่งต่อให้ครม.นำไปดำเนินการต่อไป คาดว่า จะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ประธานสปท.ได้ในวันที่ 16 พ.ค. โดยเนื้อหาที่ปรับปรุงแก้ไขมีเพียงประเด็นเดียวคือ การยกเลิกการขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเปลี่ยนเป็นการออกใบรับรองวิชาชีพสื่อมลชนโดยต้นสังกัดแทน พร้อมกับยกเลิกบทลงโทษสื่อมวลชนและต้นสังกัด กรณีที่ไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนวิชาชีพสื่อมวลชน