ไทยพาณิชย์มองเงินหยวนดิจิทัลเป็นนวัตกรรมการเงินครั้งสำคัญที่สุด หลังจากเกิดไวรัส COVID-19 ชี้ข้อดีช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจข้อมูลการใช้จ่ายส่วนตัว เนื่องจากข้อมูลถูกจัดเก็บรวมกันที่ธนาคารกลาง ไม่กระจายอยู่ที่บริษัทเอกชน ระบุธนาคารพาณิชย์ของจีนต้องเตรียมรับมือหลังถูกลดทอนบทบาทการส่งต่อกลไกราคา พร้อมแนะธุรกิจไทยควรจับตาแนวโน้มระยะยาว ความคล่องตัวของเงินหยวนดิจิทัลจะผลักดันให้เงินหยวนมีความสากลมากขึ้น นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด(มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า การประกาศเริ่มใช้เงินหยวนดิจิทัลน่าจะเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญที่สุดหลังจากเหตุการณ์โรคระบาด โดยเงินหยวนดิจิทัลนี้ไม่ใช่สกุลใหม่หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของเงินหยวนปกติ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงิน ตลอดจนมีส่วนช่วยในการปราบปรามการทุจริต ในระยะยาวอาจเป็นตัวเสริมความเป็นสากลของเงินหยวน ขณะเดียวกันเงินหยวนดิจิทัลมีคุณสมบัติและวัตถุประสงค์ที่ตรงกันข้ามกับ crypto currency โดยสิ้นเชิง และรัฐบาลจีนไม่ได้มีสัญญาณที่จะเปลี่ยนท่าทีมาส่งเสริมการใช้ crypto currency แต่อย่างใด เมื่อพิจารณาถึงผลต่อภาคธุรกิจ คาดว่าธนาคารพาณิชย์จีนน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะดูเหมือนธนาคารกลางจีนออกแบบเงินดิจิทัลนี้ให้ลดทอนบทบาทธนาคารพาณิชย์ในการทำหน้าที่เป็นตัวส่งต่อกลไกราคา อีกทั้งความต้องการใช้บริการบางด้านเช่น ธุรกิจ custodian และธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆอาจลดลง โดยธนาคารกลางจีน หรือ People’s Bank of China (PBOC) ได้ศึกษาแนวทางการออกเงินหยวนดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว การนำเงินหยวนดิจิทัลออกมาใช้ในช่วงเวลานี้ ส่วนหนึ่งเพื่อการป้องกันการติดโรคระบาดผ่านธนบัตร ถึงแม้ประเทศจีนเป็นสังคมไร้เงินสดเกือบทั้งหมด แต่เบื้องหลังของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ยังมีส่วนที่เป็นธนบัตรกระดาษอยู่ อาทิ การจัดเก็บธนบัตรที่ธนาคารพาณิชย์ ส่วนเงินหยวนดิจิทัลจะไม่มีขั้นตอนของธนบัตรกระดาษแต่อย่างใด สำหรับในระยะต่อไปเมื่อมีการใช้เงินหยวนดิจิทัลในวงกว้าง ธนาคารกลางจีน น่าจะสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินได้แบบคล่องตัวและตรงจุดมากขึ้น เนื่องจากคุณสมบัติด้านการรวมศูนย์ที่ทำให้ติดตามสถานะของผู้ถือเงินได้ ซึ่งธนาคารกลางอาจกำหนดหรือปรับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่างกันสำหรับกลุ่มผู้ถือเงินแต่ละกลุ่มโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านกลไกของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารกลางสามารถบริหารสภาพคล่องในแต่ละภาคเศรษฐกิจได้โดยตรงมากขึ้น นอกจากนี้ ประโยชน์อื่น ๆ ของเงินดิจิทัล ได้แก่ ต้นทุนการผลิตเงินที่ต่ำกว่า การป้องกันการคดโกงและการฟอกเงินที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินอุดหนุนในเหตุวิกฤติที่ทำได้แบบตรงตัวกว่า เป็นต้น “เงินหยวนดิจิทัลมีความต่างจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเงินหยวนดิจิทัลจะถูกเก็บอยู่ในมือถือของประชาชนโดยตรง การใช้จ่ายทำผ่านระบบ NFC ก็คือเอาโทรศัพท์มือถือมาแตะกัน จึงให้ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสูงกว่าสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะข้อมูลการใช้จ่ายจะถูกจัดเก็บรวมกันที่ธนาคารกลาง ไม่กระจายอยู่ที่บริษัทเอกชน และสิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ในภาคธุรกิจคือ เมื่อมีการใช้เงินหยวนดิจิทัลในวงกว้าง ธุรกิจร้านค้าอาจถูกติดตามเรื่องการเสียภาษีได้ง่ายขึ้น” โดยปัจจุบัน ธนาคารกลางจีน กำลังจะทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลที่มีชื่อทางการว่า Digital Currency/Electronic Payment (DCEP) โดยกำหนดทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลนี้ใน 4 เมือง ได้แก่ เซิ่นเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และเขตเมืองใหม่สงอัน โดยในเมืองซูโจว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รัฐบาลจะจ่ายค่าเดินทางให้กับข้าราชการครึ่งหนึ่งเป็นเงินหยวนดิจิทัล ส่วนการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลในเมืองสงอันนั้น จะเน้นทดลองใช้กับธุรกิจค้าปลีกและการจัดเลี้ยง เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต และฟิตเนส เป็นต้น โดยมีบริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ เช่น Starbucks McDonald’s และ Subway เข้าร่วมโครงการทดลองในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ในมุมมองของไทยพาณิชย์ สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างมาก คือ เมืองสงอัน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง เพราะรัฐบาลจีนจะผลักดันให้เป็นเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต ในส่วนของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Apple Pay,AliPay และ WeChat นั้น รัฐบาลจีนก็ออกกฎชัดว่าต้องสามารถรองรับการใช้งานของเงินหยวนดิจิทัลได้ ซึ่งน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การใช้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว นายมาณพ กล่าวอีกว่า แนวคิดของเงินหยวนดิจิทัลนั้นอยู่ตรงกันข้ามกับ cryptocurrency เช่น bitcoin หรือ stable coin เช่น Libra และโดยนัยยังเป็นการสกัดกั้น cryptocurrency เนื่องจากเงินหยวนดิจิทัลมีลักษณะ 3 ประการคือ 1.มีกฎหมายรองรับและไม่ใช่เงินสกุลใหม่ เงินหยวนดิจิทัลเป็นเงินที่มีกฎหมายและความน่าเชื่อถือของประเทศรองรับ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ หากแต่เป็นเงินหยวนในรูปแบบดิจิทัล (แทนที่จะเป็นกระดาษ) ดังนั้นไม่ต้องมีการอิงราคากับสกุลเงินหรือสินทรัพย์ใดๆ ไม่ต้องมีการกำหนดราคาเป็นของตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินหยวนที่มีใช้อยู่แล้ว หากเปรียบเทียบกับ Bitcoin จะเห็นได้ว่า Bitcoin ถือเป็นอีกสกุลเงินหนึ่งที่มีราคาตลาดขึ้นลงเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องสอดคล้องกับสกุลเงินจริงใดๆ หรือแม้กระทั่ง Libra ก็ยังถือเป็นอีกสกุลเงินหนึ่ง ที่มีการผูกค่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อไม่ให้มีความผันผวน แต่โดยตัวเองไม่ได้มีการรับรองโดยรัฐประเทศ 2.มีลักษณะรวมศูนย์ เงินหยวนดิจิทัลไม่อิงกับเทคโนโลยี blockchain มีลักษณะการจัดเก็บแบบรวมศูนย์มาที่ธนาคารกลาง คือธนาคารกลางสามารถรู้ข้อมูลการเคลื่อนไหวตลอดจนสถานะของผู้ถือ (ว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือบริษัท SME หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น) โดยที่แนวคิดเรื่องการรวมศูนย์นี้ มีความตรงกันข้ามกับ crypto currency ชนิดต่างๆที่เน้นการกระจายการจัดเก็บข้อมูลโดยไม่มีตัวกลาง 3.มีดอกเบี้ย ที่น่าสนใจมากคือธนาคารกลางสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้กับเงินหยวนดิจิทัลได้โดยตรง คุณสมบัติข้อนี้เป็นจุดแตกต่างจากเงิน crypto currency โดยทั่วไป แต่ในขั้นทดลองนี้ยังไม่มีการกำหนดดอกเบี้ย สำหรับภาคธุรกิจไทยควรจับตาแนวโน้มระยะยาวว่าความคล่องตัวของเงินหยวนดิจิทัลจะมีส่วนผลักดันให้เงินหยวนมีความเป็นสากลมากขึ้นหรือไม่เพียงใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขั้นตอนการโอนเงินเข้าออกประเทศจีนเพื่อชำระสินค้าค่าบริการและการลงทุน ตลอดจนการเพิ่มน้ำหนักของเงินหยวนในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามเงินหยวนดิจิทัลนี้คงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพรวมการปฏิรูปเงินหยวนให้มีความเสรีมากขึ้น จึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการเปิดเสรีบัญชีทุนของประเทศจีนด้วย สำหรับในระยะสั้น ไม่คิดว่าการใช้เงินหยวนดิจิทัลจะมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจไทยแต่อย่างใด