ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย เม.ย.ลดต่ำสุดในรอบ 28 เดือนจากพิษโควิด ซ้ำบริโภค-ลงทุน-ท่องเที่ยวร่วง เร่งรัฐบาลเร่งคลายมาตรการล็อกดาวน์รีสตาร์ทธุรกิจ หวังเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 3 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) เดือนเม.ย.63 ซึ่งสำรวจจากความคิดเห็นของหอการค้าจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-29 เม.ย.63 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนเม.ย.63อยู่ที่ระดับ 32.1 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนมี.ค.63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 37.5 และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 โดยเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน หรือกว่า 2 ปี สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นฯในเดือนเม.ย.ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงไม่ถึง 10 คนต่อวันแล้วก็ตาม, การใช้มาตรการล็อคดาวน์ในหลายจังหวัด, การประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการสั่งปิดกิจการบางประเภทชั่วคราว, ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งที่กระทบกับภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของประชาชน, ปัญหาการว่างงานจากการปิดธุรกิจบางประเภทที่ไม่สามารถแบกรับภาระจากปัญหาเศรษฐกิจได้,ธุรกิจขนาดเล็กขาดสภาพคล่อง,รายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคชะลอตัวลง,เงินบาทอ่อนค่า สะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย เป็นต้น ส่วนปัจจัยบวกในเดือนเม.ย.นี้คือ รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิด-19, การส่งออกไทยเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 4.17% และระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 32.7 ลดลงจากระดับ 38.3 ในเดือนมี.ค. โดยมีปัจจัยที่ลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่มีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้ชีวิต,ประชาชนบางส่วนขาดรายได้จากการเลิกกิจการของธุรกิจที่ประสบปัญหาจากโควิด,การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นต้น ส่วนปัจจัยบวกได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลดลงต่อเนื่อง,เงินช่วยเหลือจากภาครัฐเริ่มทยอยโอนเข้าบัญชีของประชาชนที่ได้รับการอนุมัต เป็นต้น ส่วน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคกลางอยู่ที่ระดับ 32.2 ลดลงจากระดับ 37.3 ในเดือนมี.ค.โดยปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด, ปัญหาภัยแล้ง, มาตรการจำกัดการเดินทางข้ามเขตจังหวัดของประชาชน ส่วนปัจจัยบวกเช่น การควบคุมการแพร่ระบาดที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และการอนุมัติเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชน เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 36.4 ลดลงจากระดับ 41.6 ในเดือนมี.ค.โดยปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ บางรายถึงขั้นปิดกิจการ,ความกังวลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังไม่หมดไป, การลดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วนลง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางธุรกิจ,ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่สูงอย่างที่คาด,สถานประกอบการลดจำนวนแรงงาน,จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป รวมทั้งมาตรการล็อกดาวน์จังหวัด เป็นต้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 31.2 ลดลงจากระดับ 36.4 ในเดือนมี.ค. โดยมีปัจจัยลบสำคัญเช่น ความกังวลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, พายุฤดูร้อนที่สร้างความเสียหายให้ประชาชนในพื้นที่, คนตกงานจากการถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น, สถานการณ์ภัยแล้ง กระทบราคาพืชผลทางการเกษตร ขณะที่ปัจจัยบวกได้แก่ มาตรการควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง,การอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล เป็นต้น ด้านดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 32.4 ลดลงจากระดับ 37.6 ในเดือนมี.ค. โดยปัจจัยลบที่สำคัญได้แก่ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ, การส่งออกชะงักจากการปิดด่านชายแดน,สถานการณ์ไฟป่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่,สถานการณ์ภัยแล้ง และระดับราคาพืชผลทางการเกษตร ส่วนปัจจัยบวกเช่น มาตรการควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง,การอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล เป็นต้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 29.2 ลดลงจากระดับ 34.8 ในเดือนมี.ค. โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น ความกังวลของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในบางจังหวัดทางภาคใต้ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง, ปริมาณฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก,มาตรการล็อกดาวน์ของจังหวัดต่างๆ และรายได้ภาคบริการลดลงหลังจากไม่มีนักท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยบวกได้แก่ การอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล และการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศลดลง สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีไปถึงภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหามีดังนี้ 1.เร่งมาตรการผ่อนปรนให้เปิดกิจการ เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักมากไปกว่านี้ 2.การผ่อนปรนการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 3.มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ควรให้ครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนอย่างทั่วถึง 4.มาตรการรองรับธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนจนถึงขั้นต้องปิดกิจการลงชั่วคราว ซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องปลดพนักงานบางส่วน และหากสถานการณ์ยังคงอยู่อีกนาน อาจทำให้ต้องปิดกิจการถาวรในอนาคต 5.แผนการจัดสรรดูแลแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง