“หม่อมเต่า”ถอยยังไม่เสนอครม.ปรับเพิ่มช่วยเหลือผู้ประกันตนได้รับผลกระทบจากโควิดเป็น 75% นักวิชาการแนะให้ฟังมติบอร์ด-ผู้นำแรงงานความเห็นแตก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เรียนถาม ม.ร.ว.จัตุมงคลถึงกรณีที่จะนำเรื่องเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จาก 62% ของเงินเดือน(เพดานขั้นสูงสุด 15,000 บาท)เป็น 75% เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 พฤษภาคม หรือไม่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบอกว่าคงต้องหารือกันภายในกระทรวงให้ได้ข้อสรุปเรียบร้อยก่อน ดังนั้นในสัปดาห์นี้จึงยังไม่นำเสนอ ครม. ที่สำคัญคือภารกิจเร่งด่วนที่สุดในตอนนี้คือการจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนที่มาลงทะเบียนให้ครบก่อน รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ภายหลังการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด)มีมติไม่เห็นด้วยที่จะปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็น 75% ซึ่งขัดแย้งกับการแถลงข่าวของ ม.ร.ว.จัตุมาลง ที่ต้องการให้มีการปรับเพิ่มเป็น 75% อย่างไรก็ตามล่าสุด ม.ร.ว.จัตุมงคล ยอมถอยที่จะไม่น้ำเรื่องเข้าสู่ ครม.เนื่องจากเมื่อพิจารณาตัวเลขที่จะช่วยเหลือผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นป็น 75% นั้น จะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนประกันการว่างงานเป็นอย่างมาก น.ส.อรุณี ศรีโต ผู้นำแรงงานและ กรรมการบอร์ดประกันสังคมกล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรงงแรงงานจะยังเดินหน้าเสนอครม.หรือไม่ ซึ่งหากมีการชงเรื่องให้ครม.จริง ก็เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเองเพราะบอร์ดก็ได้แสดงจุดยืนออกไปแล้วว่าไม่เห็นด้วยเนื่องจากต้องคำนึงถึงผู้ประกันตนทั้ง 15 ล้านคนที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันการว่างงานซึ่งในอนาคตหากพวกเขาตกงานก็ควรมีโอกาสได้ใช้เงินที่เขาจ่ายสมทบทุกเดือนด้วย หากเงินก้อนนี้หมดแล้วจะทำอย่างไร “ไม่มีใครไม่เห็นด้วยที่จะให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือมากขึ้น แต่ไม่ใช่เอางบของประกันสังคมไปทุ่มทั้งหมด เงินกองนี้มี 1.6 แสนล้านบาท ควรใช้เมื่อลูกจ้างตกงานหรือออกจากงานเพื่อประทังความเดือดร้อน 3-6 เดือน เราต้องคำนึงถึงผู้ประกันตนที่เขาจ่ายเงินกันทุกๆเดือนด้วย ถ้าอนาคตถ้าเขาตกงานก็ควรมีสิทธิใช้เงินนี้ จริงๆแล้วหากรัฐบาลต้องการจะช่วยเหลือลูกจ้างมาก 62% ก็น่าจะใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน”น.ส.อรุณี กล่าว น.ส.อรุณีกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือหากมีการเพิ่มเงินเช่วยเหลือเป็น 75% ต่อไปนายจ้างที่จะเลิกจ้างงานก็จะโอนภาระทั้งหมดมาให้ประกันสังคม ทั้งๆที่เขายังช่วยเหลือตัวเองได้ ที่สำคัญคือทำให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยน้อยลงคือแทนที่จะได้ 75% ของเงินเดือน กลับจะมารับเพียง 75%ของเพดานเงินเดือน 15,000 บาท นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า เคยแสดงจุดยืนแล้วว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีการปรับเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนจากเหตุโควิด-19 เป็น 75% เพราะเรากลัวว่านายจ้างจะเลี่ยงกฎหมายคุ้มครองแรงงานและโอนภาระให้กับกองทุนประกันสังคม ซึ่งตอนนี้เงินของกองทุนประกันการว่างงานก็มีเงินปริ่มๆน้ำอยู่แล้ว “ผมยังไม่เห็นมีผู้ประกันตนมาร้องเรียนเลยว่า ได้รับเงินว่างงาน 62% นั้นน้อยไป แต่ถ้ารัฐบาลต้องการให้ได้มากขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ควรเอางบประมาณของรัฐบาลจากภาษีมาจ่าย ไม่ใช่เอาเงินของประกันสังคม”นายมนัส กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังยืนยันที่จะนำข้อเสนอปรับเพิ่มเป็น 75% สู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จะดำเนินการอย่างไร นายมนัสกล่าวว่า โดยมารยาทแล้วไม่เคยมีรัฐมนตรีที่ไม่ฟังมติบอร์ด ขณะที่บอร์ดเองก็ต้องฟังนโยบายจากรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้หากรัฐมนตรียังนำเรื่องส่งไปให้ ครม.พิจารณาก็เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก แต่ ครม.อาจจะไม่ผ่านก็ได้ ขณะที่นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)กล่าวว่า คสรท.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกจ้างมาว่าเงินที่ได้รับจากกรณีว่างงานของสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ซึ่งจ่าย 62% มีปัญหาเพราะหากเป็นเหตุสุดวิสัยและต้องหยุดงาน นายจ้างจ่ายให้ 75% แต่ถ้ามารับเงินจาก สปส.ได้เพียง 62% ซึ่งต่ำกว่า ดังนั้นควรจ่ายให้ได้รับเท่ากับกฏหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นการจ่ายแค่ชั่วคราว ส่วนเรื่องเงินกองทุนว่างงานจะหมดหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กรณีที่เกรงกันว่านายจ้างจะผลักภาระมาให้ สปส.นั้น หากไม่ใช่เหตุสุดวิสัยก็สามารถตรวจสอบกันได้ เราต้องเอาเหตุสุดวิสัยจริงๆ แต่ถ้านายจ้างใช้ช่องทางซิกแซกเป็นหน้าที่รัฐต้องเข้าไปตรวจดูแล “เราอยากพูดเรื่องของคนงานที่กำลังเดือดร้อนและไม่มีอันจะกินของลูกจ้าง เราต้องพยายามหาทางช่วยเหลือพวกเขา ขณะเดีววกันตอนนี้ผู้ประกันตนในมาตรา 33 ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงเพราะไม่ได้ลงไปดูในเนื้องาน จริงๆแล้วคนงานได้รับผลกระทบกันมากมาย มีทั้งการตัดโอที การได้รับเงินตามมาตรา 75 ทำให้พวกเขามีรายได้ลดลงมาก รัฐบาลควรช่วยเหลือเขาบ้าง เช่น เกลี่ยเงินที่กู้ตามพระราชกำหนดมาช่วยเหลือคนงานด้วย”นายชาลี กล่าว ขณะที่นายยงยุทธ แฉล้มวงศ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอกล่าวว่า กองทุนประกันสังคมบริหารโดยระบบไตรภาคี ที่ประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในงานประกันสังคม ให้ข้อมูล ความเห็นในการตัดสินใจ และลงความเห็นเป็นมติของบอร์ด แม้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองที่มีสถานะดูแลกำกับหน่วยงาน ที่ผ่านมาไม่เคยมีครั้งใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดำเนินการนอกเหนือจากมติของบอร์ด “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องของกติกา แยกอำนาจหน้าที่ระหว่างข้าราชการประจำและข้าราชการฝ่ายการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องไม่เช่นนั้น ฝ่ายการเมืองแทรกแซงในกองทุนต่างๆ”นายยงยุทธกล่าว นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอกล่าวว่า กองทุนประกันการว่างงาน 1.6 แสนล้านบาท มีเจตนาดูแลลูกจ้างที่ตกงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่ใช่กลุ่มลูกจ้างที่ถูกปิดงานชั่วคราวจากเรื่องโควิด เนื่องจากทางการสั่งปิดสถานประกอบการชั่วคราว ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เช่นเดียวกับการช่วยเหลือคนกลุ่มอื่นๆ กรณีนายจ้างสั่งปิดงานชั่วคราวทั้งหมด หรือบางส่วนก็เป็นเรื่องที่นายจ้างต้องดูแล รับผิดชอบลูกจ้าง ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75