วันที่ 10 พฤษภาคม 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การผ่อนคลายมาตรการ Lock Down” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,259 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ร้อยละ 34.39 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงมาก ช่วงเวลาที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี และกลับมาประกอบอาชีพได้หลังจากบางอาชีพสั่งปิดทำการชั่วคราว ร้อยละ 49.56 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะผู้ติดเชื้อน้อยลง ประชาชนได้ผ่อนคลายบ้าง มีการรับมือทางการแพทย์ที่ดี ประชาชนให้ความร่วมมือค่อนข้างดี ประชาชนดำรงชีวิตสะดวกมากขึ้น และประกอบอาชีพหารายได้ได้เหมือนเดิม ร้อยละ 9.93 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่พ้นวิกฤต หากมีการกลับมารวมตัวกันของประชาชนมากขึ้น เกรงว่าจะกลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 , ร้อยละ 6.04 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะอยากให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หมดไป 100% ก่อน หรือเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก 1 เดือน และเกรงว่าจะกลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ ด้านความเชื่อของประชาชนต่อผู้ใช้บริการและร้านค้าว่าจะสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากมีการผ่อนปรนให้เปิดกิจการร้านค้าได้ พบว่า ร้อยละ 18.19 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการทำตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี และผู้ประกอบการก็พยายามทำตามมาตรการเพื่อป้องกันการสั่งปิดทำการชั่วคราวอีก , ร้อยละ 48.77 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะผู้ประกอบการทำตามคำสั่งด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี และประชาชนส่วนใหญ่มีการดูแลและรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น ร้อยละ 26.13 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะประชาชนบางกลุ่มยังไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย ไม่ทำตามกฎกติกา และกิจการขนาดเล็กอาจจะปฏิบัติตามได้ไม่เต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดทางงบประมาณ , ร้อยละ 6.43 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะประชาชนและผู้ประกอบการมีความตระหนักในการป้องกันไม่เท่ากัน อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ขึ้น และร้อยละ 0.48 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 2 หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ร้อยละ 15.33 ระบุว่า กังวลมาก เพราะการกลับมาเดินทางและการรวมตัวของประชาชนเพิ่มมากขึ้นทำให้ละเลยในการเว้นระยะห่างทางสังคม อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 2 , ร้อยละ 47.58 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะคนที่เดินทางข้ามจังหวัดอาจจะไปในพื้นที่เสี่ยงแล้วกลับมาในพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่ระบาด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 2 ได้ ร้อยละ 25.73 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ป้องกันตัวเองมากขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงมาก และมั่นใจในการทำงานของรัฐบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ไม่น่าจะเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 , ร้อยละ 11.12 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะภาครัฐมีมาตรการควบคุมป้องกันที่ดี ประชาชนและผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะหมดไปแน่นอน และร้อยละ 0.24 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ