"บรรยง​ วิทยวีรศักดิ์" ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก ได้โพสต์บทความลงเพจเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ควานหาโอกาสท่ามกลางวิกฤติ คนชอบพูดกันว่า วิกฤติคือโอกาส แต่พวกเขาก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า ทุกวิกฤติมีโอกาสแอบแฝงมาด้วยเสมอ จริงเหรอ ทำไมคนส่วนใหญ่มองไม่เห็น ผมขอตอบว่า จริงครับ เพราะวิกฤติหมายถึงสภาวะที่อยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย เสี่ยงต่อการพังพาบ ผู้คนไร้ซึ่งทางออก ดังนั้น ถ้ามีใครที่สามารถแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ ผู้นั้นคือวีรบุรุษ/ ผู้ชนะหรือผู้ที่สามารถทำกำไรได้มหาศาล ขึ้นกับว่าเราจะวางตำแหน่งของเราว่าเข้าไปกอบกู้สถานการณ์ในฐานะอะไร เช่น ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ชนะข้าศึก ขณะที่ประชาชนอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนยารักษาโรค ตอนนั้นเรียกได้ว่า เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า แต่ก็ยังมีคนที่ใช้วิกฤติสร้างโอกาสจนร่ำรวยมหาศาล ด้วยการขายอาวุธสงครามบ้าง ค้าข้าวสารอาหารแห้งบ้าง หรือนำเข้ายารักษาโรค เราจะไม่พูดว่าใครถูกใครผิดในการค้าขายสินค้าประเภทต่างๆ แต่ขอเน้นว่าถ้าใครเห็นช่องทาง ก็ทำกำไรได้มหาศาล สมัยวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทอ่อนค่าจาก 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 25 บาท กลายเป็น 50 บาท สินค้านำเข้าราคาแพงขึ้น 1 เท่าตัว บริษัทที่เป็นหนี้ต่างประเทศ มูลหนี้ที่กู้มาเป็นเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น 1 เท่าเมื่อวัดเป็นเงินบาท บริษัทล้มละลายจำนวนมาก แต่ก็ยังมีคนที่ได้ประโยชน์จากวิกฤติจำนวนมาก เช่น บริษัทส่งออก เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ที่ส่งออกได้จำนวนมากเนื่องจากราคาสินค้าถูกลงเมื่อเทียบเป็นเงินดอลลาร์ แล้ววิกฤติโควิดครั้งนี้ มอบโอกาสอะไรให้เราบ้างล่ะ 1. คนกลัวโควิด -โอกาส : ขายหน้ากาก/ ขายเจลแอลกอฮอล์/ ขายเฟสชีลด์ 2. คนอยู่บ้าน -โอกาส : ทำอาหารส่งตามบ้าน/ บริการขนส่งสินค้าถึงบ้าน/ บริการตัดแต่งผมถึงบ้าน 3. คนทำงานที่บ้าน -โอกาส : อุปกรณ์เสริมสำหรับใช้ประชุมเช่น ฐานวางมือถือ/ โปรแกรมประชุมออนไลน์/ ที่ปรึกษาออนไลน์/ เริ่มธุรกิจขายสินค้าทางออนไลน์จากเดิมขายเฉพาะหน้าร้าน 4. คนมีเวลาว่างมากขึ้น -โอกาส : คนมีเวลาช็อปสินค้าออนไลน์มากขึ้น/ สินค้าแต่งบ้าน/ ไม้ดอกไม้ประดับ/ ล้างแอร์ หากเราสังเกตดีๆจะรู้ว่า แท้จริงแล้ว”โอกาส”คือวิธีแก้ปัญหานั่นเอง ดังนั้นเมื่อมีวิกฤติทุกครั้ง ต้องดูว่าปัญหาที่คนส่วนใหญ่ประสบคืออะไร และอะไรจะช่วยแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเหล่านั้นได้ ต่อไปนี้เป็นแนวทางในการสร้างโอกาสจากวิกฤติต่างๆ 1. เสนอตัวเป็นผู้แก้ปัญหาด้วยการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้บริโภค เช่น ขายหน้ากากอนามัย ขายและส่งอาหารถึงบ้าน หรือเสนออุปกรณ์เสริมเพื่อใช้ประชุมออนไลน์ โดยคนที่จะลงมือด้วยวิธีนี้มีทั้งคนที่เดิมทำธุรกิจนี้อยู่แล้วและทุ่มกำลังผลิตให้สูงขึ้น หรือคนที่เดิมผลิตสินค้าที่ใกล้เคียง เช่นตัดเย็บเสื้อผ้า แต่หันมาทำหน้ากากเท่ๆขึ้นมา หรือคนที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่อยากกระโจนมาทำ ซึ่งกลุ่มหลังนี้ต้องชั่งใจให้ดีว่า ผลิตภัณฑ์ของเราโดดเด่นกว่าคนอื่นหรือไม่ การตลาดเราดีหรือไม่ และทุนรอนเราเพียงพอหรือไม่ ถ้าสินค้าตอบโจทย์ลูกค้าแบบที่ไม่มีใครทำได้ ก็แจ้งเกิดได้ เป็นเศรษฐีใหม่ได้ทันที 2. ไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มที่ 1 หมายความว่า เราอาจไม่ได้ไปขายหรือผลิตสินค้าตามข้อหนึ่งโดยตรง เพราะเราไม่มีประสบการณ์ แต่เราพอที่จะผลิตชิ้นส่วนหรืออะไหล่ให้กับคนที่ทำข้อที่ 1 เช่น เดิมเราทำธุรกิจทอผ้า พอมีการขายหน้ากากอนามัยคึกคัก เราอาจเปลี่ยนมาทอสายยางยืดสำหรับใช้คล้องหูของหน้ากากผ้าได้ หรือพออาหารเดลิเวอรี่ขายดี เราอาจผลิตกล่องอาหารจากเยื่อไผ่ที่ช่วยรักษ์โลก เกาะกลุ่มไปกับการเติบโตของกลุ่มที่ 1 ซึ่งข้อ 2 นี้ เหมาะกับคนที่มีธุรกิจที่ใกล้เคียงอยู่แล้ว เพียงแค่ปรับผลิตภัณฑ์นิดหน่อย ก็สามารถเกาะกระแสไปกับทิศทางความต้องการของผู้บริโภคได้ 3. ขายสินค้าให้กับกลุ่มที่ 1 และ 2 หากเรากำลังมองหาผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อในช่วงวิกฤติ พวกเขาในข้อ 1 และ 2 คือกลุ่มผู้มุ่งหวัง เพราะพวกเขากำลังทำเงินในจังหวะที่หาได้ยาก เราต้องเชื่ออย่างหนึ่งว่า ความต้องการของผู้บริโภคมีตลอดเวลา มันอาจชะลอไปบ้างบางเวลา แต่ไม่หายไปทุกเรื่อง เช่น คนต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ เมื่อไปทานที่ร้านไม่ได้ก็ทำกินเอง แต่จะทำได้ไม่นาน ก็จะเบื่อและสั่งอาหารทาน คำสั่งซื้อแค่เปลี่ยนมือจากร้านหนึ่งไปอีกร้านหนึ่ง ใครตอบสนองได้ คนนั้นได้เงินไป ดังนั้น ถ้าคุณกำลังมองว่าจะไปขายประกันชีวิต ขายรถยนต์ ขายที่ดิน หรือสินค้าใดๆ พวกเขาคือคนที่มีกำลังซื้อ และอยู่ในอารมณ์ที่ต้องการซื้อ เพราะต้องหาที่อยู่ให้เงินที่ทำมาได้ 4. ลงทุนในหุ้นของกลุ่มเหล่านี้ ถ้าคุณไม่ได้อยากลงแรงไปทำข้อ 1 หรือข้อ 2 เพราะไม่มีความชำนาญ ไม่มีกำลังคน หรือมีทุนรอนไม่พอ การเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในเวลานี้ก็ทำเงินให้คุณได้ เช่น ผมได้ข่าวว่าช่วงนี้ที่คนถูกล็อคดาวน์ให้อยู่บ้าน บริษัท Netflix ที่ทำธุรกิจฉายภาพยนตร์ออนไลน์กำลังทำเงินมหาศาล เพราะคนอยู่บ้านจึงสมัครสมาชิกเพิ่มเพื่อดูภาพยนตร์ออนไลน์ฆ่าเวลา หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ทุกครั้งที่น้ำมันดิ่งเหว บริษัทที่ได้รับประโยชน์เต็มๆคือบริษัทผลิตยางมะตอย เนื่องจากใช้กากน้ำมันในการผลิตยางมะตอย ดังนั้น คุณต้องรู้ว่ามีบริษัทอะไรที่เราสามารถซื้อหุ้นได้และกำลังทำเงินจากวิกฤติครั้งนี้ โอกาสที่มาแบบถล่มทลาย คนทั่วไปที่ไม่เคยทำธุรกิจมักคิดว่า เวลาธุรกิจดี เจ้าของธุรกิจคงมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวหรือ100% ซึ่งก็ถือว่าเยอะมากแล้ว แต่ผมอยากจะบอกว่า คนทำธุรกิจ เวลาที่เขาทำเงิน กำไรอาจจะมากขึ้น 5-10 เท่าตัว ถ้าจังหวะดีๆ พวกเขาอาจทำเงินหลายสิบหลายร้อยล้านบาทในเวลาไม่กี่ปี ยกตัวอย่างเช่น 1. ตอนลดค่าเงินบาทในปี พ.ศ.2540 ธุรกิจส่งออกหลายแห่งมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบริษัทคู่ค้าในต่างประเทศ เช่น กำหนดราคาขายที่ชิ้นละ 1 ดอลลาร์ มูลค่ารวมเดือนละ 10 ล้านดอลลาร์ โดยที่ต้นทุนของผู้ผลิตอยู่ที่ 22 บาท กำไรชิ้นละ 3 บาท จู่ๆเงินบาทลดค่าลงเป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ ต้นทุนของผู้ส่งออกยังเป็น 22 บาทเพราะใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด แต่ราคาขาย 1 ดอลลาร์กลายเป็น 50 บาท กำไรจึงเพิ่มเป็น 28 บาท เดิมกำไร 3 บาท พุ่งมาเป็น 28 บาท บอกผมหน่อยครับ กำไรเพิ่มขึ้นกี่พันเปอร์เซ็นต์ ยิ่งทำสัญญาล่วงหน้าไว้นานเท่าไร ยิ่งกอบโกยเท่านั้น ถึงแม้ในที่สุด คู่ค้าต่างประเทศจะรู้ทัน พยายามปรับราคาจาก 1 ดอลลาร์ เป็น 0.75 ดอลลาร์ ผู้ส่งออกยังกำไรดี และที่สำคัญ พอสินค้าเราถูกลง คู่ค้าจะย้ายคำสั่งซื้อจากประเทศอื่นมายังผู้ผลิตในประเทศไทย ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทวีคูณ 2. ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2554 มีบริษัทจำนวนมากได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โชคดีว่าพวกเขาเรียกร้องสินไหมจากบริษัทประกันภัยได้ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือบริษัทเหล่านั้นจะเรียกให้บริษัทรับซื้อของเก่าเข้าไปรับซื้อซากสินค้าหรืออุปกรณ์สำนักงานที่โดนน้ำท่วม หลายบริษัทขายซากออกไปแบบถูกๆเพื่อให้รีบเคลียร์พื้นที่สำหรับสร้างสำนักงานใหม่ โกดังใหม่ โครงเหล็กที่เคยขายกันกิโลกรัมละ 4-5 บาท อาจขายเลหลังไปกิโลกรัมละ 1-2 บาท ลองคิดดูน้ำหนักเหล็กรวมๆกันหลายร้อยตัน(แสนกิโลกรัม)ต่อบริษัท ได้กำไรเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 3 บาท คือ 3 แสนบาทแล้ว ยังไม่นับรวมอุปกรณ์สำนักงาน/คอมพิวเตอร์ที่เสียหาย และถูกกดราคาลงมาเหลือ 10-20% ของราคาซากในภาวะปกติ (ส่วนหนึ่งมีการให้สินบนพนักงานบริษัทที่เสียหายและพนักงานสำรวจความเสียหายของบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อลดราคาซากลงมา) คนที่ทำธุรกิจรับซื้อของเก่าหลายสิบรายสามารถทำเงินได้รายละหลายสิบล้านบาทจากวิกฤติครั้งนั้น ซึ่งคนทั่วไปคิดไม่ถึง จริงอยู่ว่า ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะทำกำไรมหาศาลอย่างนี้เสมอ บางครั้งการที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว อาจหมายถึงกำไรเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวหรือ 100% แต่โดยทั่วไป ธุรกิจมักมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินเดือน (อาจมีให้โอที/โบนัสบ้างนิดหน่อย) ดังนั้น เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น 100% บางครั้งค่าใช้จ่ายรวมอาจเพิ่มขึ้นเพียง 30-40% ที่เป็นต้นทุนแปรผันเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือกำไรที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว Andrew Goh นักฝึกอบรมชาวสิงคโปร์กล่าวไว้ว่า เมื่อ”โอกาส”มาเคาะประตูบ้าน พอเราเปิดประตู กลับพบ”ปัญหา” “ปัญหา”เป็นเพียง”โอกาส”ที่สวมชุดทำงานเข้ามา “โอกาส”จะปรากฏตัวครั้งแรกในรูปของ”ปัญหา”ก่อนเสมอ ที่ไหนมี”ปัญหา”ที่นั่นจึงมี”โอกาส” ถ้าเราไม่ชอบ”ปัญหา” เราก็จะไม่มีวันได้สบ”โอกาส” เพราะ”โอกาส”คือวิธีแก้”ปัญหา”นั่นเอง ผมหวังว่าครั้งต่อไป เราจะมองเห็น”โอกาส”ได้รวดเร็วขึ้น และคว้าตัวมันไว้ก่อนที่มันจะโบยบินไปครับ อ้างอิง : หนังสือชื่อ Headstart ของ Andrew Goh