ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า... แนวคิดปิดอุทยานปีละ 3 เดือนของท่านรมต. ถือเป็นแอคชั่นแรกๆ ของ new normal หลังโควิด . เป็นเรื่องดีครับ แต่ในทางปฏิบัติอาจต้องวางแผนให้รอบคอบและครบถ้วน โดยเฉพาะอุทยานทางทะเล . อุทยานทางทะเล 26 แห่งของไทย ตั้งอยู่กระจายไปทุกพื้นที่ มีทรัพยากรต่างกัน มีการใช้ประโยชน์ต่างกัน . บางอุทยาน เช่น ลำน้ำกระบุรี พูดชื่อไปแทบไม่มีใครรู้จัก มีนักเที่ยวทั้งปีแค่หมื่น . บางอุทยาน เช่น พีพี เกาะเสม็ด สิมิลัน ฯลฯ มีนักท่องเที่ยวหลายแสน บางแห่ง 2+ ล้าน (พีพี) . แม้แต่อุทยานที่มีคนเยอะ กลุ่มนักท่องเที่ยวก็ต่างกัน . บางแห่ง 95% เป็นต่างชาติ บางแห่งไทยครึ่งต่างชาติครึ่ง บางแห่งไทยเยอะต่างชาติน้อย . บางอุทยานปิดตามฤดูอยู่แล้ว เช่น สิมิลัน สุรินทร์ ปีละเกิน 3 เดือน พวกนั้นคงไม่ยาก . บางแห่งปิดบางพื้นที่ในบางฤดูกาล เช่น ลันตาปิดเกาะรอกฤดูมรสุม แต่อุทยานยังเปิดอยู่ . บางแห่งมีพื้นที่ปิดถาวร เช่น พีพีมีเกาะยูง สิมิลันมีตาชัย . บางแห่งเปิดตลอดปีไม่มีปิด เช่น สิรินาถ ทะเลบัน เกาะเสม็ด . ผมยังไม่ได้จัดกลุ่มให้ชัดเจน เพราะนั่นต้องใช้พลังงานเยอะหน่อย . แต่เอามาให้เพื่อนธรณ์ดูคร่าวๆ ว่ามันซับซ้อนมาก . และอุทยานเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเต็มๆ สร้างรายได้มหาศาล เอาเฉพาะภูเก็ตก็ปีละ 4.4 แสนล้าน . การอนุรักษ์ที่รอบคอบ จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ดีงาม จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จะทำให้เกิดเศรษฐกิจที่พอเพียง . อยากทำเช่นนั้น เราต้องมองครบทุกมุม เอาข้อมูลมาซ้อนเป็นชั้นๆ . สภาพทรัพยากร แนวปะการัง แหล่งสัตว์หายาก แหล่งท่องเที่ยวระดับต่างๆ ฯลฯ . จากนั้นดูในภาพใหญ่รวมกัน โดยแบ่งให้ถูกต้อง . เช่น กลุ่มนักเที่ยวภูเก็ตไปไหน กระบี่ไปไหน เพราะบางวันไม่ได้เข้าแค่อุทยานเดียว . ภาพใหญ่ยังอาจสัมพันธ์กับการท่องเที่ยว จะมีคลัสเตอร์อยู่แล้ว เช่น อันดามัน สมุย ตะวันออก ฯลฯ . เมื่อข้อมูลฐานเรียบร้อย ค่อยเขยิบขึ้นมาเป็นลำดับ จากกรมมากระทรวง . ทะเลไทยไม่ได้มีเพียงอุทยาน พื้นที่ธรรมชาติสำคัญอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในการดูแลของกรมทะเล . สัตว์หายากที่เข้ามา หลายพื้นที่ไม่ใช่อุทยาน เช่น เต่ามะเฟืองเกินครึ่งออกไข่นอกเขตอุทยาน พะยูนบ้านเพว่ายข้างนอก ฯลฯ . แน่นอนว่าหากเริ่มจากอุทยานที่มีกม.ชัดเจนอยู่เป็นเรื่องดี แต่นี่เป็นขั้นแรก ยังมีอีกหลายขั้นที่ต้องมองในภาพรวม . จากกรม/กรม มาถึงกระทรวง พูดคุยข้ามกระทรวง รัฐ/เอกชน ทรัพยากร/ท่องเที่ยว เพื่อให้ได้แผน new normal ทั้งหมด . เมื่อได้แผนคร่าวๆ ว่าจะปิดเปิดที่ไหนอย่างไร ลองกลับไปที่พื้นที่ พูดคุยปรับเปลี่ยนให้เหมาะ จากนั้นส่งมารวมกันอีกที แล้วค่อยลงมือทำให้เกิดผลทางปฏิบัติ . ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าซับซ้อนและกินเวลาพอสมควร . ไม่ง่ายเหมือนแค่สั่งไปให้แต่ละอุทยานหาเวลาปิด 3 เดือนมา จากนั้นก็เอามารวมกันแล้วออกประกาศ . แต่ถ้าง่ายไปมันอาจเกิดปัญหา กระทบต่อการท่องเที่ยวที่กำลังต้องการการฟื้นตัวอย่างเร็ว . และเมื่ออนุรักษ์ปะทะท่องเที่ยว ในช่วงที่ประเทศต้องการฟื้นตัวเรื่องปากท้อง ผมพอมองเห็นว่าใครจะชนะ . ทั้งหมดนี้ อย่าเข้าใจผิด ผมสนับสนุนแนวคิดของท่านรมต. ที่สอดคล้องกับกระแสคนไทยที่อยากรักษาธรรมชาติดีๆ ไว้ให้อยู่ต่อไปนานๆ . ปิด 3 เดือน ปิด 4-5-6 เดือน ยิ่งนานผมยิ่งชอบ . แต่ผมก็ทราบดีว่าพอถึงเวลาจริง หากไม่รอบคอบ เราก็เจอกระแสต้าน . หากเรารอบคอบ เริ่มต้นแบบเหนื่อยหน่อย เราจะได้ระบบที่ดีและถาวร . และการอนุรักษ์จะไปคู่กับการพัฒนาได้ ไม่งั้นเขาก็จะบ่นเหมือนสมัยก่อน . เอะอะก็อนุรักษ์ คนจะอดตายอยู่แล้ว . ผมไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนั้น เพราะสุดท้ายอนุรักษ์ก็จะแพ้ . ผมอยากให้เราชนะไปด้วยกัน . วันนี้หากไม่มีอะไรผิดพลาด จะไปออก TV รายการสด NBT (ช่อง11) บ่ายสี่ ก็จะพูดเรื่องนี้แหละ . ให้กำลังใจท่านรมต.และผู้บริหารในกระทรวง สนับสนุนแนวคิด และอยากให้เริ่มต้นอย่างมั่นคงครับ ?