ศธ. ยันเปิดเรียน 1 ก.ค.นี้ พร้อมประเมินความปลอดภัยแต่ละที่ เตรียมทดสอบระบบทางไกล-ออนไลน์ 18 พ.ค.นี้ นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ แถลงถึงการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 ว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 รับทราบการเลื่อนเปิดภาคเรียนจากวันที่ 16 พ.ค. เป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563 โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ท่านบอกว่าโรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้ ศธ.จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางให้การเรียนการสอนเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด บนพื้นฐาน 6 ประการ 1.การจัดการเรียนการสอนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง 1 ก.ค. นี้เปิดเทอมแน่นอน ไม่ว่าเรียนที่บ้านหรือโรงเรียน การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผลการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 2.อำนวยการให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ แม้จะไม่สามารถไปโรงเรียนได้ 3.ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ศธ.ได้รับความอนุเคราะห์จาก กสทช. จัดสรรช่องทีวีให้ 17 ช่อง หาก 1 ก.ค. สภาวการณ์ยังไม่พร้อม เรามาเรียนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เรียนออนไลน์ 15 ช่องของ สพฐ. ตั้งแต่อนุบาล 1 - ม.6 กับอาชีวะ 1 ช่อง และ กศน. 1 ช่อง ทุกระดับสามารถเรียนได้ผ่าน DLTV นี้ 4.การตัดสินใจนโยบายต่างๆ บนพื้นฐานของการสำรวจความต้องการทั้งจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน ให้จัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นที่ตั้ง ศธ.จะสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ 5.ปรับปฏิทินการศึกษาเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น ปรับตารางเรียนตามความเหมาะสม เวลาที่ชดเชยจะคำนึงถึงภาระของทุกคนและการได้รับความรู้ครบทุกช่วงวัย 6.บุคลากรทางการศึกษาทุกท่านจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด นางรักขณา กล่าวต่อไปว่า รมว.ศธ.ได้ย้ำว่า การเลื่อนเปิดเทอมถือเป็นการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่อีกมุมหนึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราได้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการศึกษาของไทย รูปแบบการเรียนการสอนออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ มี On Site, On Air และ Online 1 ก.ค. ถ้าพื้นที่ปลอดภัย สถานการณ์คลี่คลาย ก็ไปเรียนตามปกติได้ แต่บางพื้นที่ที่ยังไม่ปลอดภัย ต้องมีการจัดการเรียนการสอนทางไกล Online สำหรับ ม.4-ม.6 มีสภาวะที่พร้อมเรียนได้ควบคู่กับเรียนทางไกล ทั้งนี้ ศธ.ได้กระจายอำนาจให้กับทางเขตพื้นที่ สถานศึกษา ต้องคุยกันทั้งโรงเรียน เขตพื้นที่ กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง แต่ละพื้นที่บริบทก็จะแตกต่างกันไป นางรักขณา กล่าวด้วยว่า นโยบายหลักที่นำมาใช้ เพิ่มเวลาพัก ลดการประเมิน งดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก ให้นักเรียนผ่อนคลายลง เปิดภาคเรียนที่ 1 วันที่ 1 ก.ค. - 13 พ.ย. 2563 จะมีเวลาพัก 17 วัน ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 ธ.ค. 2563 - 9 เม.ย. 2564 มีเวลาพัก 37 วัน รวม 54 วัน แล้วจะกลับสู่สภาพปกติในปีการศึกษาใหม่ ส่วนการเตรียมความพร้อมระบบทางไกลและออนไลน์จะเริ่มทดสอบระบบต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. นี้ เป็นต้นไป “1 ก.ค. เปิดเรียนแน่นอน ในพื้นที่ที่ปลอดภัยก็เข้าเรียนตามปกติ On Site ยังคงยึดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ในพื้นที่ที่ยังไม่ปลอดภัย ต้องเรียนว่าคุณครู ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา ต้องมาคุยกัน จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่” รองโฆษก ศธ. กล่าวสรุป ถามถึงกรณีที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ผู้ปกครองรายได้น้อยลง ศธ. จะช่วยจัดการให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมอย่างไร นางรักขณา กล่าวว่า การทดสอบระบบตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. - 30 มิ.ย. นี้ ศธ.อยากได้ฟีดแบ็กจากผู้ปกครองว่าต้องการการช่วยเหลือ สนับสนุนอย่างไร การกำกับ ติดตาม รายงาน ศธ.มีระบบนี้อย่างชัดเจน ทางเลขาธิการ สพฐ. ได้ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการจัดการเรียนการสอนก่อนเปิดภาคเรียนเป็นระยะ ให้ความมั่นใจว่า ศธ.จะดูแล เป้าหมายสุขภาพความปลอดภัยของนักเรียนควบคู่ไปกับการศึกษา เมื่อถามว่า ศธ. จะต้องมีมาตรการกลางในการป้องกันโควิดในโรงเรียนหรือไม่ นางรักขณา กล่าวว่า มั่นใจว่าต้องมีแน่นอน เพราะ รมว.ศธ. มีคณะทำงาน ในส่วนของ สพฐ. อาชีวะ กศน. ได้แต่งตั้งคณะทำงานหลายคณะช่วยกันคิดมาตรการ ทั้งเรื่องการป้องกันโควิด ช่วยเหลือเยียวยา ดูแลเรื่องนี้มาต่อเนื่อง