บุรีรัมย์ประสบปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่ง ยังน่าห่วง เหลือน้ำเพียงกว่าร้อยละ 19 ของความจุ ขณะปริมาณน้ำในอ่างลดต่ำอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงถึง 6 อ่าง ด้านจังหวัดมีแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้กระทบน้ำดิบผลิตประปา สำหรับอุปโภคบริโภค 9 พ.ค. 63 สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลางที่อยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ทั้ง 16 แห่ง ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเหลือเพียงกว่า 56.4 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 19.11 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 295.385 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า มีอ่างเก็บน้ำที่มีระดับต่ำอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง จำนวน 6 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างกว่า 66,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 26 ล้านลูกบาศก์เมตร, อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างกว่า 7,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 0.02 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 30.852 ล้านลูกบาศก์เมตร, อ่างเก็บน้ำหนองทะลอก มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างกว่า 62,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 1.77 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 4.645 ล้านลูกบาศก์เมตร, อ่างเก็บน้ำห้วยน้อย มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างกว่า 70,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 5.83 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 1.200 ล้านลูกบาศก์เมตร, อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างกว่า 63,000ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 4.85 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 1.300 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำลำตะโคง มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างกว่า 559,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 7.42 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 7.531 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันพบว่า ปีนี้ระดับน้ำต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วง 2 ปีนี้ จังหวัดบุรีรัมย์ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงมานาน ส่งผลให้ไม่มีน้ำไหลเข้าอ่าง ประกอบกับปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปา เพื่อหล่อเลี้ยงเขตเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ อ.เมืองบุรีรัมย์ ที่มีสถิติการใช้น้ำเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ทั้งสองอ่างรวมกันก็เหลือน้ำกักเก็บอยู่เพียงกว่า 7 หมื่นลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ย 0.27 เปอร์เซ็นต์ จากสถานการณ์น้ำในอ่างที่ค่อนข้างลดต่ำในปีนี้ หากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง ทางจังหวัดบุรีรัมย์ โครงการชลประทาน และการประปาส่วนภูมิภาคสาขาบุรีรัมย์ ก็ได้มีการวางแผนในการบริการจัดการน้ำไว้แล้ว เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการผลิตประปา สำหรับอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ยังได้เตรียมแผนในระยะยาวเพื่อรองรับปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบตามมา