กระทรวงเกษตรฯ เข้มต้านการทำประมงผิดกม. ออกประกาศเชือดเรือประมงไร้สัญชาติ 38 ลำ ขึ้น IUU LIST ห้ามทำประมงในน่านน้ำไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าคุมเข้มบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยอย่างต่อเนื่อง หลังพบเรือประมงไร้สัญชาติลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย ล่าสุดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 116 แห่งพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นบัญชีเรื่อง รายชื่อเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 30 เมษายน 2563 ให้เป็นเรือประมงผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายไทย ในช่วงปีพ.ศ.2558 เป็นต้นมารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมง IUU ของไทยเป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้กรมประมงและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการปฏิรูปการประมงในทุกมิติให้ปรากฏเป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เรือประมงจำนวน 38 ลำดังกล่าวมาจากการรวบรวมผลการจับกุมตั้งแต่ปี 2561 โดย 36 ลำ เป็นเรือประมงที่ไร้สัญชาติและทำการประมงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตการทำประมงพาณิชย์ และอีก 2 ลำ เป็นเรือประมงที่มีการปลอมแปลงเครื่องหมายประจำเรือประมง ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์การทำการประมงให้กับเรือประมงไทยที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ตลอดจนเป็นการป้องปรามเรือประมงต่างชาติที่มีความคิดจะเสี่ยงเข้ามาลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทยได้เห็นถึงบทลงโทษที่รุนแรงของกฏหมายประมงของประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 116 แห่งพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศรายชื่อเรือที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมติคณะกรรมการมาตรการทางปกครอง นอกจากเรือประมงดังกล่าวจะถูกประกาศขึ้นบัญชีเป็นเรือที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังมีผลให้ถูกยึดสัตว์น้ำยึดเครื่องมือทำการประมงและกักเรือไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด และหากพ้นกำหนดระยะเวลาเรือประมงทั้ง 38 ลำ จะถูกสั่งห้ามเข้ามาทำการประมงในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี และจะไม่ได้รับบริการเข้าเทียบท่าใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังห้ามมิให้วางประกันตามมาตรา 113 วรรค 2 แห่งพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากถือเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งนอกจากการดำเนินคดีตามกฎหมายประมงแล้วก็จะถูกดำเนินคดีทางอาญาควบคู่กันไปด้วย พร้อมกันนี้ กรมประมงได้ดำเนินการทำหนังสือแจ้งรายชื่อเรือประมงที่ถูกประกาศเป็นเรือประมงที่กระทำผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายไทยไปยังคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันตก (WCPFC) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ความตกลงการทำประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA) คณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ตลอดจนเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการประมงของไทยทั้งระบบให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ผลักดันการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการที่จะให้ความร่วมมือกับทุกประเทศทุกองค์กร ในการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย ภายใต้ความรับผิดชอบของ “รัฐ” โดยมีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของทรัพยากรทางการประมงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กรมประมงขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนหากพบเรือประมงที่เข้าข่ายเรือประมงผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งเบาะแสมาได้ที่ กรมประมง โทร 02 562 0600