ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 47.2 ต่ำสุดรอบ 21 ปี 7 เดือน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลงที่คาดจะยาว3-6 เดือน รวมถึงปัจจัยภัยแล้งซ้ำเติมภาคเกษตร เผยคลายล็อกดาวน์รอบแรกหนุนเม็ดเงินหมุนกลับมาในประเทศ 6-9 หมื่นล้านบาทต่อเดือน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเม.ย.63 อยู่ที่ระดับ 47.2 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 7 เดือน ทั้งนี้ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤต โควิด-19 ทั่วโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งยังซ้ำเติมปัญหาต่อภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลงอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 58.2 มาอยู่ที่ระดับ 54.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจ 21 ปี 7 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต อย่างไรก็ตามคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลายตัวลงและมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า การคลายล็อกดาวน์รอบแรกจะทำให้เม็ดเงินหมุนกลับมาในประเทศประมาณ 2-3 พันล้านบาท/วัน หรือประมาณ 6-9 หมื่นล้านบาท/เดือน ขณะที่การคลายล็อกดาวน์รอบ 2 ในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้จะทำให้มีเงินเติมเข้ามาในระบบอีก 6-8 พันล้านบาท/วัน หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท/เดือน ทั้งนี้จุดสำคัญที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้คือการรีสตาร์ทธุรกิจ เพราะในสถานการณ์ปกติการจับจ่ายใช้สอยในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท/วัน แต่พอมีการล็อกดาวน์และกังวลสถานการณ์โควิด เงินหายไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท/วันจากการชะลอการท่องเที่ยวภายในประเทศ ชะลอการซื้อสินค้าทั้งสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย โดยจากการที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชนเข้ามาดูแลผลกระทบ บรรเทาผลกระทบจากการว่างงานด้วยเงิน 5 พันบาท แก่ประชาชน 16 ล้านคน และคาดว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงประมาณไตรมาสที่ 3 ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นในรูปแบบไหน เช่น การกระตุ้นผ่านกองทุนหมู่บ้าน ผ่านเศรษฐกิจชุมชน หรือการจ้างงานในพื้นที่ ยิ่งการกระตุ้นมีการกระจายตัวไปทุกพื้นที่และมีการจ้างงานกลับมาโดยเฉพาะการจ้างงานในท้องถิ่น การซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเร็วขึ้น “หวังว่าหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินได้ในช่วงเดือน ก.ค.63 ก็น่าจะทำให้คนไทยเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ทั้งการสัมมนา ประชุม การท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลเริ่มมีแนวคิดการคลายล็อกการประชุมสัมมนาแล้ว หากดำเนินการในกรอบที่เหมาะสมกับ Social Distancing จะทำให้สามารถกระจายเม็ดเงินไปดูแลภาคการท่องเที่ยวและภาคการโรงแรมในต่างจังหวัด ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้นในไตรมาส 3/63 และคาดว่า Soft Loan ของรัฐบาลที่เตรียมไว้ 4 แสนล้านบาทจะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ” สำหรับแนวโน้มการปลดล็อกให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นสัญญาณที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในไตรมาส 3/63 และถ้าสถานการณ์ของการปลอดเชื้อโควิด-19 ในเอเชียและทั้งโลกดีขึ้น คาดว่าไตรมาส 4/63 นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเริ่มกลับมา 6 ล้านคน หรือเดือนละประมาณ 2 ล้านคนขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐ น่าจะช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้นกลับขึ้นมาเร็วและทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัว -3.5%