จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการประกอบอาชีพหลักของคนในชุมชน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นหลักที่เราทุกคนต้องหันมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อหาทางออกในภาวะเศรษฐกิจถดถอย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมง ได้จัดทำโครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน เพื่อให้แหล่งน้ำชุมชนซึ่งเป็นของทุกคน สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนในพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำ โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ให้รายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมว่า “นายกรัฐมนตรีท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ ที่รับผลกระทบจากอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งปัญหาทั้งสองนี้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน กรมประมงมีนโยบายในการขับเคลื่อน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกร ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ประสบภัย โดยนำเสนอโครงการ 2 โครงการในพื้นที่ที่ประสบภัย 39 จังหวัด “โครงการแรกคือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และยื่นความประสงค์กับกรมประมงทั้งหมด 44,311 ราย ทางกรมประมงสนับสนุนพันธุ์ปลานิล 800 ตัว และอาหารลี้ยงปลานิล 120 กิโลกรัม โครงการที่สองคือ โครงการสร้างแหล่งอาหารและรายได้ในพื้นที่แหล่งน้ำปิด โครงการส่งเสริมอาหารและรายได้ในแหล่งน้ำชุมชน ใน 19 จังจังหวัด ที่ประสบภัยจากพายุโพดุลและภัยธรรมชาติในปี 2562 ได้แก่ จ.ขอนแก่น จ.ตราด จ.นครพนม จ.บุรีรัมย์ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.มหาสารคาม จ.มุกดาหาร จ.ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด จ.ศรีสะเกษ จ.สกลนคร จ.สระแก้ว จ.สุโขทัย จ.อำนาจเจริญ จ.อุดรธานี และจ.อุบลราชธานี ดำเนินการ พัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำในชุมชนให้เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ สนับสนุนพันธุ์กุ้งก้ามกราม เพื่อนำไปเลี้ยงในแหล่งน้ำของชุมชน กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางการค้า สามารถจำหน่ายได้ราคาสูง กรมประมงสนับสนุนพันธุ์กุ้งก้ามกราม จำนวน 200,000 ตัวต่อ 1 แหล่งน้ำ ขั้นตอนดำเนินการเริ่มจากการให้ประมงอำเภอ ประมงจังหวัด คัดเลือกแหล่งน้ำ ตั้งคณะกรรมการวางแผน ประสานงานกับชุมชนพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูแหล่งน้ำให้เหมาะสมต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ความรู้กับประชาชนในชุมชนติดตามผลการดำเนินการ โดยตั้งเป้าว่าใน 5 ถึง 7 เดือน ประชาชนในชุมชนสามารถจำหน่ายกุ้งก้ามกราม สู่ตลาดสร้างรายได้ให้กับชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชนถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ให้กับชุมชน กรมประมงจะเป็นผู้สนับสนุน และดูแลแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด ทำงานร่วมมือกับชุมชนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด “ “นอกจากนี้ทางกรมประมงได้จัดชุด Mobile hatchery (ชุดเพาะฟักเคลื่อนที่) พร้อมจัดให้ประชาชนเรียนรู้การทำงานของชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ เพื่อขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ให้ความรู้เรื่องการผสมเทียม กรมประมงตั้งเป้าหมายคัดเลือกชุมชนที่มีความพร้อม มีความเข็มแข็ง เข้ามาร่วมเรียนรู้การขยายพันธุ์สัตว์ โดยเริ่มจากชุมชนที่มีการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามก่อน และขยายไปสู่สัตว์น้ำอื่นๆ กรมประมงจะร่วมมือกับประชาชน พัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน กรมประมงตั้งเป้าว่าจะทำโครงการนี้ให้ครบทุกจังหวัด โดยใช้ 19 จังหวัดนี้นำร่อง คัดเลือกชุมชนที่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำให้มีความสมบรูณ์ สามารถเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้ผลดี สร้างรายได้เข้าชุมชน เป็นต้นแบบในการขยายการดำเนินงานไปสู่ชุมชนข้างเคียง จนเกิดผลในวงกว้าง ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้จากชุมชนและกรมประมงร่วมมือกัน ดำเนินตามนโยบายพัฒนาแหล่งน้ำ ให้มีความอุดมสมบรูณ์ ประชาชนมีความตื่นตัวช่วยกันพัฒนาแหล่งน้ำ ผลที่ตามมาคือชุมชนจะมีแหล่งน้ำ ที่พร้อมสำหรับการเลี้ยงสัตว์เพื่อเพิ่มรายได้ และได้รับการสนับสนุนพันธุ์สัตว์จากกรมประมง ทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการดูแลรักษา และฟื้นฟูแหล่งน้ำให้มีความอุดมสมบรูณ์ กลายเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำสร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แหล่งน้ำพร้อมชุมชนพร้อม เกิดการต่อยอดเป็นวงกลม เป้าหมายนี้จะสำเร็จอย่างแน่นอน เป้าหมายสำคัญของกรมประมงคือ การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากร ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประชาชนและภาครัฐ กรมประมงพยามยามให้เกิดการมีส่วนร่วมในทุกมิติ การเสนอความคิดเห็นสร้างการมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายคือความยั่งยืน และสำคัญที่สุดคือ ความสุขของสังคม ภายใต้การแบ่งปันที่ยุติธรรม“ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่มีความสำคัญ มีมูลค่าผลผลิตปีละหลายหมื่นล้าน ผลผลิตเฉลี่ยในแต่ละปีนั้นประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งมากเป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งประเทศเลยทีเดียว โดยผลผลิต 80 เปอร์เซ็นต์จะถูกส่งเข้าโรงงานแปรรูป ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์จะจำหน่ายผลสดบริโภคภายในประเทศ จะเห็นได้ว่าการส่งออกสับปะรดไปยังต่างประเทศนั้น ยังมีปริมาณที่น้อยมาก เนื่องจากปัญหาหลายประการ ได้แก่คุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ มีการปนเปื้อนของสารเคมี รวมทั้งปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช ตลอดจนเรื่องเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยว ที่ยังไม่มีองค์ความรู้ที่จะช่วยเกษตรกรได้อย่างตรงจุด ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงพื้นที่ใน อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกลุ่มอาชีพผู้ปลูกสับปะรด ตามโครงการปฏิรูปสังคมแบบมีส่วนร่วมสานเสวนา โดยมีตัวแทนเกษตรกรและตัวแทนจากส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่คือเกษตรอำเภอสามร้อยยอด และพาณิชย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย พ.อ.กรกานต์ นาเวชวนิชกุล รอง ผอ.รมน. จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ฝ่ายทหาร) กล่าวถึงการจัดงานสานเสวนาในครั้งนี้ว่า “การเสวนาในครั้งนี้ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานบรูณาการ ประสานงาน ระหว่างเกษตรกรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กอ.รมน.จะรวบรวมข้อมูลและปัญหาส่งให้รัฐบาล ปัญหาที่สามารถแก้ไขในระดับจังหวัดได้ ก็จะดำเนินการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาร่วมเสวนาวันนี้ ทางพาณิชย์จังหวัด เกษตรกรอำเภอ และเกษตรผู้ปลูกสับประรด มาร่วมพูดคุยกัน รับฟังปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อความอยู่ดีกินดีของชาวไร่สับประรดใน จ.ประจวบคีรีขันธ์” นายสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับประรดไทย กล่าวว่า “ปัญหาที่เกษตรกรชาวไร่สับประรด ประสบคือปัญหาความไม่แน่นอนของราคา ผลผลิตในประเทศไทย 80% ถึง90% ส่งเข้าโรงงานแปรรูป ราคาที่รับซื้อไม่แน่นอน มีราคาตกต่ำ และยังประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำ ปัญหาโรคและศัตรูพืช อยากให้ภาครัฐเป็นผู้ประสานในการพูดคุยระหว่างเกษตรกรกับโรงงาน เพื่อวางแผนร่วมกัน ในการแก้ปัญหาราคารับซื้อผลผลิต การได้พูดคุยกันน่าจะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย” นายชัยณรงค์ หงส์ทอง เกษตร อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า “ปัญหาที่พบกันบ่อยมากคือ เรื่องราคาผลผลิตจะขึ้นลง ราคาไม่นิ่ง ทางเกษตรอำเภอจะเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องการลดต้นทุนการผลิต โดยมีเป้าหมายลดต้นทุนการผลิตให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ให้ความรู้เรื่องการผสมปุ๋ยใช้เอง การตรวจวิเคราะห์ดิน เก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ ให้ความรู้เรื่องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ทำยังไงให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งตลาดสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออกและตลาดส่งโรงงาน ส่งเสริมขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับสำนักงานเกษตรอำเภอสามร้อยยอด เพื่อจะได้ช่วยคำนวณจำนวนผลผลิตได้ถูกต้อง รู้ว่าผลผลิตจะออกในช่วงไหน วางแผนช่วยแก้ปัญหาด้านผลผลิตที่ตกต่ำ ประสบปัญหาผลผลิตไม่ตรงกับตลาด และรวมตัวกันให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ ทำให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตร สามารถเข้ามาช่วยเหลือ ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต ทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกร” นางสาวภัสสรัณย์ ชำนาญกิจ พาณิชย์จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เข้ามารับฟังปัญหา และแนะนำว่า “การที่ราคาผลผลิตไม่คงที่ มีการขึ้นลงตามผู้รับซื้อ แนะนำให้มีการทำตลาดข้อตกลง ทั้งราคาและจำนวนซื้อขายล่วงหน้ากับโรงงาน สามารถวางแผนการผลิตได้ถูกต้อง รวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อรอง และถ้ากลัวว่าราคาที่ตกลงกับโรงงาน จะมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดในปีนั้นๆ ให้แก้ปัญหาโดยการประกันราคา และจำนวนการขายไว้บางส่วน อีกส่วนเก็บไว้จำหน่ายในตลาดที่มีราคาสูงกว่า ปัญหาใดที่ไม่สามารถแก้ไขในระดับจังหวัดได้ จะรวบรวมและนำเสนอทางผู้บริหาร เพื่อจะได้ดำเนินการในระดับนโยบายต่อไป” หลังจากการพูดคุยทางเวทีสานเสวนารับฟังความคิดเห็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดย พล.ท.พิชัย เข็มทอง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 ได้ลงพื้นที่ เพื่อพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรบ้านหนองแก ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับทราบถึงสาเหตุ และความเดือดร้อนของประชาชนที่รับผลกระทบเรื่องน้ำแล้ง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต ผลมีขนาดเล็กไม่เจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ปัญหาโรครากเน่า และโรคเอ๋อในสับประรด และปัญหาสำคัญคือเรื่องของผลผลิต ประสบกับปัญหาราคาตกต่ำ ที่โรงงานเป็นผู้กำหนด พล.ท.พิชัย เข็มทอง ได้ให้คำแนะนำเกษตรกรว่า “ให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นเสริมโดยเลือกพืชที่มีเวลาการเก็บผลผลิตไม่ตรงกับผลผลิตหลัก เกษตรกรจะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เรื่องราคาการรับซื้อถูกโรงงานกดราคา แนะนำให้รวมกลุ่มกันทำเป็นวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ เพิ่มศักยภาพในการต่อรองราคากับโรงงาน ทำการแปรรูปสับประรดจำหน่าย เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกทางหนึ่ง” การจัดเวทีสานเสวนาในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ได้รับความเดือดร้อนและมีการแลกเปลี่ยนมุมมองปัญหา ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อทุกฝ่าย ให้ยึดหลักความปรองดอง หันหน้าเข้ามาพูดคุยถึงสาเหตุ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ปลูกฝังพื้นฐานในการช่วยกันคิด ทบทวนถึงข้อดีข้อเสียด้านต่างๆ จนกระทั่งจบเป็นมติที่ทุกฝ่ายนั้นยอมรับ ซึ่งจะนำไปสู่หนทางในการปฏิรูปสังคม ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แท้จริง การดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความเข็มแข็งให้กับชุมชน ที่ชุมชนบ้านหนองไม้แก่น ต.หนองลาน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้แก้ผู้สูงอายุในชุมชน เป็นที่พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยใช้พื้นที่วัดหนองไม้แก่นเป็นที่ตั้ง นายนราธิป สุภาราญ รองนายกเทศมนตรี ต.หนองลาน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรีกล่าวถึงโครงการนี้ว่า “โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ใช้ความร่วมมือระหว่างวัด โรงเรียน ชุมชนและราชการ ตามหลัก บวร ทางเทศบาลได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอน ของโรงเรียนผู้สูงอายุนั้น มีความเหมาะสมกับช่วงวัยและการใช้ชีวิตในชุมชน การเรียนรู้ทางวิชาการ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ เช่นการเรียนเรื่องกฎหมายมรดก การดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน การดูแลและป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคโควิด 19 อย่างนี้เป็นต้น โดยเทศบาลเป็นแกนในการวางกรอบทำหลักสูตร จัดหาวิทยากร รพ.สต.ดูแลให้ความรู้เรื่องการดูแลตัวเอง เจ้าอาวาสสอนเรื่องธรรมะ เสริมด้วยการให้ความรู้ด้านวิชาการ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีและโรงพยาบาลมะการักษ์ การจัดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุต้องเป็นหลักสูตรระยะสั้น เพราะธรรมชาติของผู้สูงอายุ ไม่เหมาะกับการเรียนรู้ที่ใช้เวลานาน และเสริมด้วยวิชาชีพ” พระครูกาญจนธรรมชัย เจ้าอาวาสวัดหนองไม้แก่น ผอ.ร.ร.ผู้สูงอายุ กล่าวว่า”โรงเรียนผู้สูงอายุพัฒนา มาจากชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลหนองลาน มีกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ทางชุมชนและเทศบาลเห็นว่า ควรตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมในการทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปติดบ้านติดเตียงหรือเกิดการซึมเศร้า กินอิ่มนอนอุ่นสุขใจมีรายได้ การเรียนก็จะมุ่งเน้นในเรื่องของความจำเป็นของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น จะต้องทำให้รู้และวิธีการอยู่กับการป้องกันหรือการรักษา การดูแลตัวเองให้ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เช่นการดูแลตัวเองในช่วงการระบาดของโควิด-19 จัดกิจกรรมการสันทนาการ เรียนธรรมะสวดมนต์ไหว้พระ เรียนรู้ในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างอย่างถูกต้องมีความสุข” นางซุกโม่ย โพธิปัญญาธรรม สมาชิกผู้สูงอายุ กล่าวว่า “เข้าร่วมโครงการนี้มา 7 ปีแล้ว ทำให้ได้ความรู้ต่างๆ ที่มีประโยชน์ ไม่เหงา ได้พบปะเพื่อนในวัยเดียวกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และยังได้อาชีพเสริม ที่สร้างรายได้ให้ครอบครัว รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่จะถึงวันที่ต้องมาโรงเรียน แม้จะเพียงแค่ 2 วันต่อเดือนเท่านั้น เมื่อกลุ่มต้องการอะไรเพิ่มเติมก็แจ้งไปที่นายกเทศบาล ท่านก็จะจัดหามาให้ได้เรียน ได้รู้ตามความต้องการของกลุ่ม” นายเสรี ครุธศิริ สมาชิกผู้สูงอายุ กล่าวว่า “ ได้รับความรู้จากการสอนของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เป็นการเพิ่มความรู้เดิมที่มีอยู่ ตลอดเวลาที่เข้ามาเป็นนักเรียนจะได้รับความรู้เพิ่มเติม ทั้งความรู้ด้านวิชาการและความรู้ทั่วไปที่มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต และยังนำความรู้ที่ได้รับไปบอกต่อลูกหลานที่บ้านได้อีกด้วย ความรู้ที่ได้รับจะไปเสริมอาชีพหลักและความรู้เดิมที่มีอยู่ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก” นอกจากนี้ผู้สูงอายุโรงเรียนบ้านหนองลานนั้น ยังมีวิชาจิตอาสาเพื่อสังคมด้วยคือผู้สูงอายุที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว เราก็ให้เขาแบ่งกลุ่มไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมกัน อย่างคุยกันเองในกลุ่มว่าจะทำอะไรแล้วมาแชร์กัน บางกลุ่มรณรงค์การลดขยะ บางกลุ่มซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาล บางกลุ่มไปทำกิจกรรมและมอบของใช้ให้กับบ้านพักคนชรา ตั้งกลุ่มให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนในพื้นที่ยากจน รวมถึงบางคนนั้นได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพ ซึ่งนั่นเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย โรงเรียนผู้สูงอายุบ้านหนองแก่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรีเป็นต้นแบบของโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่ทุกคนในชุมชนช่วยกันดูแล และให้ความสุขแก่ผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้สูงอายุเหล่านั้น รู้สึกคุ้มค่าในตัวเองสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงหากทุกคนทั้งวัด โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐและชุมชน ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอยู่เรื่อยๆ ก็จะนำความสุขและความสงบสุขมาสู่ชุมชนได้นั่นเอง ในภาวการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ ภาครัฐยังคงห่วงใยปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการหาวิธีช่วยเหลืออาชีพเกษตรกร และเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ตลอดจนผู้สูงอายุรัฐบาลก็ไม่ละทิ้ง ดูแลให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ ติดตามรายละเอียดได้จาก รายการเดินหน้าปฏิรูป วันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 21.00-22.00 น. ทาง ททบ.5