ทรงสร้างประโยชน์สูสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] ครูภูมิปัญญาไทย ตัวอย่างผู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ(2) ใครลองสืบค้นชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลายทุกคนก่อนจะมาอยู่บนกองสุขทุกวันนี้ได้ล้วนตกทุกข์ได้ยากลำบากตรากตรำเป็นหนี้เป็นสินมาแล้วทั้งสิ้น เพราะครูภูมิปัญญาแทบทุกคนก็ปุถุชนจึงมักหนีไม่พ้นที่จะถูกความโลภเข้าครอบงำ ด้วยประโยคสั้นๆง่ายๆ “ความจน”ทำให้โลภ โลภแล้วอยากมีมากๆเร็วๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือปราชญ์ด้านเกษตรสิ่งแวดล้อมเคยมีที่ทำกินที่นาที่สวนก็ถูกยึดหรือขายใช้หนี้สินหมดเนื้อหมดตัวเพราะเลือกทำในสิ่งที่มองว่าจะพาความรวยอันเกิดจากหัวใจโลภอยากมีเหมือนคนอื่นมาให้แบบทางรัดและเร็ว จนหมดตัวแล้วจึงรู้สึกว่าเดินผิดทาง กระทั่งแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานหลักการดำเนินชีวิตคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเตือนสติจึงหันกลับมาดำเนินชีวิตตามรอยพระยุคลบาทที่สุดก็พบความสำเร็จ นำทางไปพบความสุขความสุขบนความพออยู่พอกินพบความสุขอย่างยั่งยืน ตัวอย่างด้านเกษตรกรรม ตัวเกษตรกรเองหันมาน้อมนำเอาแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ไปประยุกต์ใช้ผสมผสานด้วยภูมิปัญญาของบรรพชนยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯนำทางมีความเพียรเป็นที่ตั้ง ตามมาด้วยความอดทน ไม่โลภ ศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริหรือศาสตร์พระราชาจนได้องค์ความรู้ ทำแล้วทำอีก พัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาดิน ฟื้นฟูป่าไม้แหล่งต้นน้ำลำธารความรู้พัฒนาสู่ความเชี่ยวชาญ ที่สุดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพหลักของตนเองคือเกษตรกรรม ผลประจักษ์คือความสำเร็จที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากความอดอยากขาดแคลน หมดหนี้สิน ฟื้นคืนสู่ความพอมีพอกินพอใช้พอเก็บมีความสุขด้วยยึดวิถีภูมิปัญญานำมาปรับประยุกต์ใช้กับศาสตร์หรือความรู้การประกอบอาชีพการดำรงชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 พระราชทานเป็นแนวทางไว้อย่างแท้จริง และมิใช่จะเก็บงำความสำเร็จในการดำเนินชีวิตไว้เพียงผู้เดียว มีการสร้างจิตสำนึกปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมปฏิบัติในครอบครัวและปฏิบัติกับคนอื่นนั่นคือการให้การแบ่งปันแนวทางสู่ผลสำเร็จนั้นจนได้รับการยอมรับจากชุมชน หน่วยงานในท้องถิ่นให้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือปราชญ์ชาวบ้านเป็นที่พึ่งแก่ชุมชนแก่คนอื่นๆถ่ายทอดภูมิปัญญาโดยไม่หวงแหน ด้วยวิถีแห่งการดำเนินชีวิตดังกล่าว รัฐบาลเห็นความสำคัญนำวิถีแห่งองค์ความรู้ภูมิปัญญามีนโยบายให้มีการถ่ายทอดสู่เยาวชนและประชาชนทั่วไปในทุกระบบได้เรียนรู้ ได้ซึมซับ ทั้งที่กำลังศึกษาในระบบ นอกระบบกระทั่งตามอัธยาศัย ให้ปราชญ์ชาวบ้านที่ได้รับการยกย่องเป็นภูมิปัญญาไทยถ่ายทอดภูมิปัญญาแบบอย่างแห่งการเดินตามรอยพระยุคลบาทของปราชญ์ชาวบ้านที่ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯเป็นต้นแบบการยึดมั่นอยู่ในความเพียรความขยัน อดทน อดออม ไม่ติดอยู่ในความโลภ มีความรักความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อนำพาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นส่วนสำคัญของการเชื่อมสังคมไทยสู่ความเข้มแข็งมั่นคงในการดำรงชีวิต ด้วยคุณธรรมคือความเสียสละ จิตอาสา การให้การแบ่งปันโดยมิได้มุ่งผลตอบแทนเพื่อประโยชน์ส่วนตน หากแต่เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญตามแนวพระราชดำริอย่างจริงจัง ไม่เพียงปราชญ์ด้านเกษตรเท่านั้นแม้ด้านอื่นๆก็ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯเป็นที่พึ่งของชุมชนเช่นเดียวกัน อันเป็นที่มาโครงการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติปราชญ์ชาวบ้านที่ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯสู้ชีวิตพัฒนาคุณภาพชีวิตจนยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวเองมีความสุขอย่างยั่งยืนและแผ่ความสุขสู่เพื่อนพ้องไทยต่อไปให้เป็น “ครูภูมิปัญญาไทย”ดำเนินการมาแล้ว 7 รุ่นกำลังเตรียมการประกาศรุ่นที่8ในปี2560อยู่ในเวลานี้(อ่านต่อ)