กรมรางประเมินผู้โดยสารเดินทางในระบบรถไฟฟ้าวันนี้ 400,000 คน พร้อมเข็นหลายมาตรการแก้ปัญหาความแออัด เข้มงวดมาตรการ Social Distancing ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระบบรถไฟฟ้าตลอดวันนี้ว่า ภายหลังรัฐบาลผ่อนปรนล็อกดาวน์ในกิจการทางเศรษฐกิจบางประเภท ทำให้มีประชาชนเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จนมีภาพความหนาแน่นในการเดินทาง ทั้งบริเวณชานชาลาและภายในตัวรถไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคมห่วงเรื่องสภาพการแออัดในการให้บริการดังกล่าวที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงขึ้นมาอีก จึงสั่งการให้กรมการขนส่งทางรางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน เพื่อวางมาตรการแนวทางให้ประชาชนมีความสะดวก ปลอดภัย สบายใจ ในการเดินทาง โดยกรมรางฯ จึงมีหนังสือถึงหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) (ARL) เรื่องขอความร่วมมือเข้มงวดการดำเนินงานตามนโยบายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมกรณีมีจำนวนผู้โดยสารเกินขีดความสามารถในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น โดยมีการเพิ่มเติมจากการดำเนินการเดิมเช่น เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาสภาพรถ สภาพทาง อุปกรณ์ เพื่อมิให้เกิดความขัดข้องในการให้บริการ ทั้งนี้หากมีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการที่เข้ามาในระบบเกินขีดความสามารถในการรองรับจนกระทบต่อการดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมให้บริหารจัดการมาตรการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการเข้าระบบแต่ละคราว (Group Release) จำแนกเป็น 3 ตอนคือ ตอนที่ 1 ก่อนการขึ้น-ลง เข้าสู่ชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร ตอนที่ 2 ก่อนการผ่านหน้าประตูกั้นจัดเก็บค่าโดยสาร และตอนที่ 3 ก่อนเข้าสู่ขบวนรถ รวมถึงเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับแนวทางการใช้บริการตามข้อดังกล่าว พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการปฏิบัติ วางแผนการเดินทาง และเผื่อเวลาในการเดินทางเพื่อให้สามารถลดความหนาแน่นและคงการปฏิบัติมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล ขณะเดียวกันขอให้เพิ่มเจ้าหน้าที่หรือสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหา/สถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน หากมีอุปสรรคขัดข้องในการดำเนินการ ขอความกรุณาแจ้งอธิบดีกรมการขนส่งทางรางทันที โดยจากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่าหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี ทั้งการตรวจวัดอุณภูมิ การให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยทุกคน ก่อนเข้าใช้บริการ และการเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อการจัดแบ่งเป็นกลุ่ม (Group Release) ให้กับผู้โดยสารตั้งแต่ ก่อนการขึ้น- ลง เข้าสู่ชั้นจำหน่ายตั๋ว ก่อนการผ่านหน้าประตูกั้นจัดเก็บค่าโดยสาร และก่อนเข้าสู่ขบวนรถ และภายในตัวรถ ซึ่งทั้งหมดมีการเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น 1-2 เมตร เพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นของผู้โดยสาร เป็นเหตุให้เกิดให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ/แพร่เชื้อโควิด-19 โดยสำหรับทาง BTS จากการตรวจสอบเช้านี้ที่สถานีรถไฟฟ้าสยามและสถานีสุขุมวิท มีการบริหารจัดการที่ดี มีเจ้าหน้าที่เทศกิจมาช่วยบริหาร บริการประชาชน ส่วนที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินได้รับแจ้งว่ามีความหนาแน่นบริเวณสถานีห้วยขวาง และ Airport Rail Link มีความหนาแน่นที่สถานีหัวหมากและลาดกระบัง แต่ผู้ให้บริการทุกรายได้จัดการระบบ Group release โดยมีการจัดระยะห่างการรอแถวใช้บริการตั้งแต่ทางขึ้น-ลงสถานี ชานชาลาสถานี และขึ้นขบวนรถ เป็นอย่างดี นายสรพงศ์ กล่าวอีกว่า กรมรางประมาณการผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบรางทั้งหมดจะใกล้เคียงวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา 400,000 คน โดยกระทรวงคมนาคมและกรมรางขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือให้ประชาชนวางแผนในการเดินทาง จะดีมากหากมีการสลับ/เหลื่อมเวลาในการเดินทางทำงานในชั่วโมงไม่เร่งด่วน,ป้องกันรักษาสุขอนามัยสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าอยู่เสมอ เผื่อเวลาเดินทาง และเว้นระยะห่างทางสังคม ทำเพื่อป้องกันการกลับมาระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง